พด.เผยผลสำเร็จ น้ำหมักชีวภาพ "ปลาหมอคางดำ" ช่วยผลผลิตพุ่งลดต้นทุนเกษตรกร
by Trust News, 4 กรกฎาคม 2568
กรมพัฒนาที่ดิน เดินหน้าผลักดันการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำ เผยผลสำเร็จน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากจุลินทรีย์ พด.2 ทำเกษตรกรยิ้ม ผลผลิตพุ่ง ฟื้นฟูระบบนิเวศ และลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุน เพิ่มรายได้
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและพื้นที่ใกล้เคียง ที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและวิถีชีวิตของชาวประมงและเกษตรกรในพื้นที่ กรมพัฒนาที่ดินจับมือ 5 หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมประมง การยางแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมวิชาการเกษตร เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาเพื่อขจัดภัยจากการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม


อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวต่อว่า กรมพัฒนาที่ดิน มีหน้าที่นำปลาหมอคางดำจากการรับซื้อของกรมประมงมาผลิตน้ำหมักชีวภาพ โดยนำปลาหมอคางดำหมักร่วมกับผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์สารเร่งซุปเปอร์พด.2 กากน้ำตาล และสับปะรด ผ่านกระบวนการย่อยสลายที่รวดเร็ว ได้สารอาหารครบถ้วน ทั้งธาตุหลัก ธาตุรอง จุลธาตุ และกรดฮิวมิค ซึ่งช่วยเสริมการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มจุลินทรีย์ในดิน และลดการใช้ปุ๋ยเคมี

สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 โดยสถานีพัฒนาที่ดิน ทั้ง 6 แห่ง ได้มีการรณรงค์และสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพสูตรปลาหมอคางดำ และได้สนับสนุนให้กลุ่มหมอดินอาสา กลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดภัย กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรที่ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) รวมทั้งเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ขยายผลการใช้น้ำหมักชีวภาพนี้ในพื้นที่มากกว่า 1,500 ไร่ กับพืชที่หลากหลายชนิด เช่น พืชผัก ฝรั่ง ลำไย มะพร้าวน้ำหอม พลู ส้มโอ ลิ้นจี่ เป็นต้น


เกษตรกรรายหนึ่งในอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ใช้น้ำหมักปลาหมอคางดำกับต้นลำไย โดยฉีดพ่นทางดิน ทุกๆ 20 วัน และฉีดพ่นทางใบและลำต้น ทุกๆ 60 วัน ในช่วงเช้า พบว่าผลผลิตมีขนาดใหญ่ขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 20% ขณะที่เกษตรกรอำเภอกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ใช้น้ำหมักปลาหมอคางดำกับต้นฝรั่ง โดยฉีดพ่นทางดิน ทุกๆ 30 วัน และฉีดพ่นทางใบและลำต้น ทุกๆ 10 วัน ในช่วงบ่าย-เย็น พบว่าฝรั่งมีความหวานเพิ่มขึ้น ต้นฟื้นตัวไวหลังเก็บเกี่ยว และแตกตาดอกได้มากขึ้นถึง 30% นอกจากนี้ การยางแห่งประเทศไทย ยังได้นำน้ำหมักสูตรนี้ไปใช้ในแปลงยางพาราทั่วประเทศ โดยมีการผลิตแล้วกว่า 295,000 ลิตร เพื่อสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำ


ด้านจังหวัดสงขลา ถึงแม้การระบาดของปลาหมอคางดำจะน้อยกว่าภาคกลาง แต่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 โดยสถานีพัฒนาที่ดินสงขลา ได้ตั้งเป้ากำจัดปลาหมอคางดำกว่า 10,000 กิโลกรัมในปีงบประมาณ 2568 พร้อมผลิตน้ำหมักชีวภาพไปแล้ว จำนวน 1,500 กิโลกรัมในช่วงเดือนพฤษภาคม–มิถุนายนที่ผ่านมา และส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตร การดำเนินงานทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือของ 6 หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567–2570 อย่างเป็นระบบ


ทั้งด้านการควบคุม การใช้ประโยชน์ และการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนสู่สมดุล การผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการผลิตพืช แต่ยังเป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ช่วยควบคุมปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ และส่งเสริมการเกษตรปลอดภัย ลดการพึ่งพาสารเคมี เป็นอีกหนึ่งก้าวของเกษตรกรรมเพื่อความยั่งยืนที่เกิดจากปัญหา แต่สามารถพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสได้.
You might be intertested in this news.
Mostview
แนวโน้มราคาทองคําวันนี้ (2ก.ค.68) เริ่มแกว่งออกข้าง
แนวโน้มราคาทองคําวันนี้ (2ก.ค.68) เริ่มแกว่งออกข้าง
ความทันสมัย ของ โคตะ ทาคาอิ กองหลังสัตว์ประหลาดแห่งเจลีก (ชมคลิป)
ความทันสมัย ของ โคตะ ทาคาอิ กองหลังสัตว์ประหลาดแห่งเจลีก (ชมคลิป)
มติศาลรธน.7ต่อ2 สั่งอุ๊งอิ๊งยุติปฏิบัติหน้าที่
มติศาลรธน.7ต่อ2 สั่งอุ๊งอิ๊งยุติปฏิบัติหน้าที่
8 ประเด็นสำคัญต้องรู้ ก่อนคิดลงทุนวันนี้ (2ก.ค.2025)
8 ประเด็นสำคัญต้องรู้ ก่อนคิดลงทุนวันนี้ (2ก.ค.2025)
8 ประเด็นสำคัญต้องรู้ ก่อนคิดลงทุนวันนี้ (1ก.ค.2025)
8 ประเด็นสำคัญต้องรู้ ก่อนคิดลงทุนวันนี้ (1ก.ค.2025)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
