แรงกระแทก “สีกากอล์ฟ” นารีพิฆาตพระ กับขบวนการทำลายพุทธศาสนา มีจริงไหม..?
by Trust News, 15 กรกฎาคม 2568
ปกติแล้ว เมื่อพระเจอ “นารีพิฆาต” จะมาในรูปแบบบุคคลกับบุคคล แต่กรณี “สีกากอล์ฟ” นั้น กลับไม่ใช่ เรียกว่า ทำให้คณะสงฆ์สมณะสูงหลายรูป โดยเฉพาะชั้น "เทพ" ต้องสละผ้าเหลือง เพราะแบบนี้ จึงถูกตั้งคำถามว่า จะเกี่ยวข้องกับ "ขบวนการทำลายพุทธศาสนา" หรือไม่...
กลายเป็นเรื่องของ “สีกา” กับ คณะสงฆ์ ที่เกี่ยวพันธ์กับพระสมณสูง หลายรูป พร้อมๆ กัน โดยเริ่มต้นจาก อดีต “เจ้าคุณอาชว์” หรือ พระเทพวชิรปาโมกข์ อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพวรวิหาร ที่ตอนนี้ ได้ลาสิกขากลายเป็น “ทิศอาชว์” ไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีพระชั้นผู้ใหญ่ไล่เรียงกันขอสึก ทั้งพระชั้นเทพ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส รวมๆ กันเกือบ 10 รูป ซึ่งถ้าเปิดหน้าสื่อก็คงจะเห็นภาพกันแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก็มีบางรูปเวลานี้ก็ยืนยันว่า “ท่าน” บริสุทธิ์ ที่ยอมรับว่ารู้จักกับ “สีกากอล์ฟ” จริง และรู้สึกสงสารกับชะตากรรม ที่เจ้าตัวอ้างถึง จึงให้หยิบยืมเงินนับแสนบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ตำรวจเองก็มีหลักฐาน เรื่องการ “กระทำผิด” ในฐานะ “สมณเพศ” ซึ่งมีการถ่ายภาพเก็บ แบล็กเมล์นับหมื่นภาพ…
ทีมข่าวทรัสต์นิวส์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ ศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทราบข่าวก็รู้สึกตกใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีพระที่รู้จัก 3 รูป ที่ได้ลาสิกขาไปนั้น ล้วนเป็นคนสุภาพเรียบร้อย มีความรู้แก่กล้าในธรรม แต่กลับอาจจะ “อ่อนต่อโลก” ไม่เท่าทันเล่เหลี่ยมผู้หญิง หรือที่เรียกว่า "อิตถีภัย"
แต่หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้ จะเกี่ยวข้องกับ “ขบวนการทำลายพระศาสนา” หรือไม่…?

อดีตเจ้าคุณอาชว์
ศ.ดร.วัชระ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ หลายคนมองว่าเรื่องแปลกเพราะว่าไม่เคยมีปรากฏการณ์ขนาดนี้มาก่อน ถ้าเกิดเป็น “นารีพิฆาต” ส่วนใหญ่มากจะทำกับพระเพียงรูปเดียว เหมือนกับว่าผู้หญิงเข้ามาล่อลวงเพื่อทำลายชื่อเสียง ที่ผ่านมา เคยยินในลักษณะ ต้องการทำลายชื่อเสียงของพระ หรือ ทำให้เสียภาพลักษณ์ แต่ถ้าเป้าหมายเป็นเรื่องเงิน ก็อาจจะมีการหลอกพระ 1-2 รูป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คือ พระโดนกันเยอะมาก และที่สำคัญ ก็ล้วนเป็นพระผู้ใหญ่ เหมือนมีการล็อกเป้าหมาย ที่พระมีสมาคมศักดิ์ หรือตำแหน่งสูง ในวัดใหญ่ และเท่าที่ติดตามข่าว เป้าหมายก็น่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ เรื่องเงินทอง เพราะทราบว่ามีการโอนเงินให้กัน แม้พระบางรูปจะยืนยันว่าไม่มีเรื่องชู้สาว
อาจารย์วัชระ กล่าวต่อว่า การเข้าหาพระลักษณะนี้ คือ คิดว่าพระมีเงินเยอะ คล้ายกับว่าเข้ามา “จับพระ” มันสะท้อนว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และมีความตั้งใจที่จะทำ ซึ่งเจ้าตัวก็อ้างว่าทำธุรกิจล้มเหลวบ้าง ติดการพนันบ้าง แต่เป้าหมายก็คือต้องการเงินจากพระ และเขาทำเป็นอาชีพเลย”
“ทำได้ขนาดนี้คือไม่กลัวบาปกลัวกรรมไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น คบซ้อนกันทีเดียว หลายคน ในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าเป็นผู้หญิงที่จิตใจไม่ธรรมดา กล้าทำ พยายามเข้าหาด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน ก็อาจจะง่ายขึ้น เพราะเข้าทางโซเชียลฯ และพยายามขอเบอร์ส่วนตัว เชื่อว่า สิ่งที่สีกากอล์ฟมี คือ มารยาและการโน้มน้าวใจ มีจิตวิทยา ทำให้พระรู้สึกหลง มีความสามารถที่จะหลอกล่อพระได้”
อาจารย์ด้านพุทธศาสนา จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ส่วนตัว ได้รู้จักกับพระที่เกี่ยวโยงกับ “สีกากอล์ฟ” 3 รูป ซึ่งพระทั้ง บางรูป รู้จักตั้งแต่บวชสามเณร ท่านเป็นคนที่มีความสุภาพเรียบร้อย แต่อีกมุมหนึ่ง ท่านก็อาจจะเป็นคนอ่อนเรื่องทางโลก อ่อนเรื่องผู้หญิง ฉะนั้น จึงไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมมารยาหญิง มองว่าพระเรียบร้อย อาจจะจับง่าย
“นี่เป็นมุมที่ผมวิเคราะห์ พระลักษณะแบบนี้ อาจจะเข้าทางเขา พอทำแบบนี้หลาย จึงถือว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ในประวัติศาสตร์ของวงการสงฆ์”

ศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ ที่มาภาพ : วิทยาลัยพระธรรมทูต
เมื่อถามว่า มันมีเบื้องหลังเกี่ยวโยงกับ “ขบวนการทำลายพระพุทธศาสนา” หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ก็เคยมีการเอ่ยถึงเรื่องราวเหล่านี้ อาจารย์ที่จบเปรียญธรรม 9 ประโยค และ อดีตนาคหลวง เผยว่า สมัยก่อน “นารีพิฆาต” คือ ต้องการทำให้เสื่อมเสียชื่อ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ท่านรู้ทันก่อน จึงรอดพ้น “มารผจญ” ในครั้งนั้นมาได้
ซึ่งพฤติกรรมในการทำลายพระ ก็มีได้หลายทาง เช่นเรื่อง “ชู้สาว” บางครั้ง ก็เป็นการร่วมมือกับคนในวัด เพื่อจ้องทำลายชื่อเสียงเจ้าอาวาส เพราะ เจ้าอาวาส ได้ขัดผลประโยชน์คนบางกลุ่มในวัด
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับคดี “สีกากอล์ฟ” หลายคนมองว่าแปลก “ผู้หญิง” คนเดียว ทำได้ขนาดนี้ จะมีคนช่วยรับส่ง หรือ จัดการเรื่องต่างๆ ด้วยหรือไม่ จะมีขบวนการทำลายศาสนา หรือไม่
อย่างไรก็ดี แต่จากการทำงานของตำรวจในเวลานี้ (14 ก.ค.) ก็ยังไม่พบ คนอื่นเข้ามาเชื่อมโยง ดังนั้น การที่บอกว่า จะเกี่ยวข้องกับขบวนการทำลายศาสนา ก็ยังพูดได้ยาก เพราะยังไม่มีหลักฐานไปถึง

สีกากอล์ฟ กับ ทางธรรม ที่เรียกว่า “อิตถีภัย”
เมื่อถามว่า ในทางพุทธเขามองผู้หญิงแบบนี้อย่างไร อาจารย์ด้านศาสนา จาก มธ. ตอบว่า ถ้าเป็นชาวบ้าน ชาววัด เขาจะเรียกว่า “มารผจญ” หรือ “อิตถีภัย” ภัยแบบหนึ่งที่เป็นภัยต่อ พรหมจรรย์ของพระ เนื่องจากพระต้องถือเพศพรหมจรรย์ พอมารู้จักกันใกล้ชิดกัน ถ้าพระเกิดความรักท่านก็อาจจะต้องสึกใช่ไหม มองว่าเป็น “ข้าศึก” ของพรหมจรรย์ ซึ่งคำว่า “ข้าศึก” อาจจะเขาไม่ได้ตั้งใจทำลายก็มี แต่กรณีนี้ คือ เขาต้องการเงิน โดยไม่รู้ว่า มันทำลายศาสนา และที่สำคัญ คือเขาไม่รู้สึกว่าบาปอะไรเลย
ในสมัยก่อน มีขบวนการทำลายศาสนา หรือไม่ ศ.ดร.วัชระ เรื่องทำลายศาสนา เหมือนมีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล อย่าง กรณีอย่างนาง “จิญจมาณวิกา” ก็เป็นเรื่องอยู่ในคัมภีร์ เธอพยายามทำลายชื่อเสียงพระพุทธเจ้า แอบอ้างว่าท้องกับพระพุทธเจ้าอะไรแบบนี้ ฉะนั้น เหมือนกับว่าเรื่องการทำโจมตีทำลายศาสนา มันมีมาอยู่ตั้งแต่ครั้งโบราณ แต่…ไม่มีครั้งไหน ที่เล่นงานพระผู้ใหญ่จำนวนมากขนาดนี้ ซึ่งหลายรูปก็ชัดเจนแล้ว ขณะที่บางรูป ก็อาจจะบริสุทธิ์ก็ได้
ทั้งนี้ การทำลายศาสนา กรณี นาง “จิญจมาณวิกา” นั้น มีเป้าหมาย คือ ฝ่ายศาสนาอื่นต้องการทำลายชื่อเสียงพระพุทธเจ้า เพราะเหมือนกับว่าเห็นศาสนาพุทธ เป็นคู่แข่ง คนหันไปนับถือพระพุทธเจ้ามากขึ้น ทำให้ศาสนาเขาขาดรายได้ ซึ่งก็เพื่อผลประโยชน์

ตำรวจสอบสวนกลางบุกจับ สีกากอล์ฟ ตั้ง 3 ข้อหา
แรงกระแทกต่อศาสนา ในคดี “สีกากอล์ฟ”
อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา มองว่าคดี “สีกากอล์ฟ” นั้น ในเชิงภาพรวม คือ การสูญเสียพระที่เป็น “มือดี” ออกไปหลายรูป เพราะแต่ละรูปนั้น ล้วนเป็นผู้บริหารกิจการของคณะสงฆ์ เป็นอาจารย์สอนปริยัติธรรม ซึ่งก็สามารถหาคนอื่นมาแทนได้ แต่สิ่งที่เสียไปมากกว่า คือ “ศรัทธา” ของชาวบ้าน
“หลายครั้งหลายหน เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ กับพระเพียงรูปเดียว คนจำนวนมากก็เลือกที่จะไม่เข้าวัด ใส่บาตร เลย แต่คราวนี้เกิดกับพระสมณสูงหลายรูปพร้อมๆ กัน เชื่อต้องใช้เวลาในการเยียวยากันยาวนาน…
ที่สำคัญ ปุถุชนเขาก็มักจะรู้สึกว่า พระผู้ใหญ่ขนาดนี้ มีความสามารถขนาดนี้ยังทำผิดแล้ว พระที่มีความสามารถน้อยกว่าอายุพรรษาน้อยกว่า จะไม่เสียหายเลยหรือ ซึ่งความคิด ลักษณะนี้ อาจจะเป็นตรรกะไม่ค่อยดี เพราะว่าจริงๆ แล้วเราจะเห็นว่าการที่พระผู้ใหญ่ การเสื่อมเสียเพราะว่าไม่สามารถต้านพลังของมารผจญอันนี้ได้ มันมีความต่างจากพระผู้น้อยเพราะว่า พระผู้น้อย ที่ยังไม่พระไม่มีสัมมาสมาธิ ยังไม่ใช่เป้าหมายถูกจู่โจม ผู้หญิงที่ต้องการได้เงินจากพระ ก็จะไม่เข้าหาพระทั่วไป ดังนั้น โอกาสที่พระเหล่านี้จะประพฤติเสื่อมเสียมันก็มีน้อยลง เพราะมีโอกาสเจอน้อยกว่า
ฉะนั้นโดยตรรกะแล้ว เราเอาส่วนน้อยไปประพฤติ ตัดสินส่วนใหญ่เลยมันก็คงไม่ถูก...มันเหมือนกับเป็นจิตวิทยาของคนทั่วไป เพราะฉะนั้น โดยนิสัยของคนส่วนใหญ่ก็มักจะศรัทธาหวั่นไหว เขาอาจไม่ค่อยเข้าใจพระเท่าไหร่ เพราะว่าไม่ได้ใกล้ชิดพระ ไม่ได้บวชเรียนมา อย่างที่สองมันเป็นเรื่องของคนทั่วไปที่มักจะรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจ พอเกิดข่าวแบบนี้ ก็อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งถึงจะดีขึ้น
“ตอนนี้ก็มีคนวิเคราะห์ว่ามันจะทำให้คนไม่เอาศาสนากลายเป็นคนไม่นับถือศาสนาใดๆ เพิ่มขึ้น คือ คนปัจจุบันนี้ ไม่นับถือศาสนาใดเลยก็มีเพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เมื่อเจอเหตุการณ์นี้ ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ไปช่วยกระทุ้งให้เขารู้สึกอยากจะเป็นอย่างงั้นขึ้นมา แต่จุดหนึ่ง เป็นเพราะ คนเราอาจจะยัง ไม่ได้ศึกษาเรื่องศาสนา อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะศาสนาไหน ถ้าเราเรียนรู้ และนับถือให้ถูกวิธีก็ล้วนมีประโยชน์ ต่อการดำเนินชีวิต” อาจารย์วัชระ กล่าวพร้อมยกตัวอย่าง
อย่างกรณี “สุขภาวะองค์รวม” ขององค์การอนามัยโลก 4 ด้าน ประกอบด้วย กาย จิต สังคม และ จิตวิญญาณ
ข้อ 4 เรื่องจิตวิญญาณ มันเป็นเรื่องที่ศาสนามีส่วนสำคัญที่ช่วยเราได้ หากคนเราไม่มีสิ่งยึดมั่น จะเกิดความเครียด เลื่อนลอย ไม่มีหลักการ หรือ อุดมการณ์ เวลาทุกข์ ก็ไม่มีสิ่งยึดเหนียว

อะไรจะปกป้อง “พระสมณสูง” เหล่านี้ได้บ้าง
กับคำถามเรื่องนี้ อาจารย์วัชระ ตอบว่า เรื่องนี้คนในวงการสงฆ์และวิชาการ มีการคุยกันมานานแล้ว พระที่เป็นพระผู้ใหญ่ นั้น มีอำนาจมาก อย่างเช่น เจ้าอาวาส ต้องดูแลพระทั้งวัด ขณะที่ตัวท่านเอง ก็อาจจะดูแลพระได้ไม่ทั่วถึง สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ปัญหาหลายอย่าง พระระดับผู้บริหาร นั้น ขาดกลไกในการดูแล
พระบางรูปใช้สื่อโซเชียลฯ คนที่เข้ามาก็ถึงตัวท่านได้เลย บางคนก็ขอเบอร์ตรงจากท่าน มันจึงกลายเป็นช่องโหว่มาก ดังนั้น วัดบางวัด จึงใช้วิธีการควบคุมสื่อโซเชียลฯ ให้คนของวัดดูแล บางวัดจะจัดสถานที่สำหรับรับแขก ไม่ให้ลับหูลับตาคน หรือไม่ให้ญาติโยมเข้ากุฎิ แต่เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งควบคุมได้ยาก
ที่ผ่านมา มีการเสนอ ให้ออกกฎหมาย เอาผิด ทั้งพระ ทั้งโยม หากทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย แต่บางครั้งการใช้กฎที่แรงไป ก็ถูกตั้งคำถามอีกว่า แบบนี้จะมีใครกล้าเข้ามาบวช การใช้กฎหมาย บางครั้งไม่ได้มีแค่ในตัวหนังสือ มันอยู่ที่ควบคุมการใช้งานอย่างรัดกุมด้วย หากกฎหมายแรง แต่ใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพก็ไม่ได้ผล
ฉะนั้น ตอนนี้ที่เป็นอยู่ คือ หากพระมีอะไรกับโยม ในทางธรรม หรือ ทางศาสนาก็ถือว่าผิด แต่ในทางโลก ถ้าไม่ผิดกฎหมายอาญา ก็สามารถทำได้
“อันดับแรกเลยผมคิดว่ามันต้องเริ่มจากการป้องกันไม่ให้มันเกิดก่อน คือ ป้องกันไม่ให้เข้าหาพระได้ง่าย ขณะเดียวกัน ปัญหาใหญ่อีกเรื่องคือ เรา ไม่มีกลไกและก็ระเบียบที่จะมาจัดการเวลาเกิดปัญหา เช่น พระรูปใดรูปหนึ่งทำผิด ขั้นตอนที่ถูกต้องแจ้งใคร มีสายด่วนไหม เราไม่มีหน่วยงานที่จัดการเรื่องนี้ที่ชัดเจน เพระเมื่อถึงเวลา สุดท้าย อำนาจก็ไปอยู่ที่ตำรวจ หากตำรวจทำงานช้า ก็อาจจะไปร้องสื่อ”
จริงๆ แล้ว “ตำรวจพระ” มีไหม ศ.ดร.วัชระ ตอบว่า ตำรวจพระ ก็คือ “พระวินยาธิการ” (มีหน้าที่แนะนำ ตักเตือน และชี้แจงระเบียบปฏิบัติภิกษุ สามเณร) แต่ปัญหา คือ พระวินยาธิการ นั้นไม่มีประสิทธิภาพ เพราะทำงานไม่เหมือนตำรวจ ไม่มีสถานีตำรวจ เนื่องจากไม่มีกลไกชัดเจน จุดอ่อน มีหลายอย่างมาก เวลามีปัญหา ท่านก็วิ่งไปดู ไม่มีสำนักงาน ไม่มีกำลังคน ไม่มีหน่วยตรวจสอบ ยกตัวอย่าง หากเจอพระเมา แบบจะๆ แบบนี้ ก็ทำได้ มีหลักฐานชัดเจน
แต่ถ้ามีการร้องเรียนเรื่องพระทำผิด แต่ไม่มีหลักฐานละ หรือ เจออะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น พระวินยาธิการ จะทำอย่างไร ท่านคนเดียวทำอะไรไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีปัญหาต่างๆ คนจึงไปแจ้งตำรวจ ฟ้องสื่อ จึงกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว ซึ่งความเป็นจริง เรื่องของคณะสงฆ์ ก็สามารถจัดการกันเองได้ โดยที่ไม่ให้เป็นเรื่องอื้อฉาว ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เป็นการช่วยเหลือคนทำผิด แต่ที่ทำแบบนี้ เพื่อไม่ให้กระทบกับ “ศรัทธา” ของคน และถือว่าทำตามพระวินัย ที่ไม่ให้เอาเรื่องอาบัติไปบอกกับชาวบ้าน
แล้วสมัยพุทธการ เข้าจัดการพระทำผิดอย่างไร
อาจารย์วัชระ อธิบายว่า พระพุทธเจ้า ก็จะให้จัดการกันภายในคณะสงฆ์ ในพระธรรมวินัย มีวิธีการสอบสวน ตัดสิน ลงโทษ เรียกว่า “อธิกรณสมถะ 7” ซึ่งบางครั้งการตัดสินต่างๆ ก็มีการเอาอุบาสก อุบาสิกา ญาติโยมมาเป็นคณะกรรมการตัดสินด้วย ผลการตัดสินก็เป็นไปตามโทษ หนักเบา
พระพุทธเจ้า ไม่อยากให้เรื่องอื้อฉาว เกิดความเสียหายกับส่วนรวม ไม่อยากให้ชาวบ้านเสียศรัทธา ต้องเข้าใจว่าชาวบ้านต้องการเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ หากเกิดการเสื่อมเสีย จะสูญเสียศรัทธา เมื่อสูญเสียศรัทธา เขาก็จะทอดทิ้งศาสนาไป และเขาก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากศาสนา ที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยที่คณะสงฆ์เองก็ได้รับผลกระทบ
ดังนั้น สิ่งที่ขาด คือ “กลไก” ในการจัดการ สังเกตไหม ว่าเราไม่มี “โฆษก” ของคณะสงฆ์ พอเกิดเรื่องปุ๊บก็ให้ตำรวจจัดการ…
สำหรับ สิ่งที่อยากจะฝาก คือ เวลาเกิดอะไรขึ้น ขอว่า “อย่าซ้ำเติม” เช่น พูดว่า ขนาดพระผู้ใหญ่ ยังเป็นแบบนี้เลย เนื่องจาก “หน้าที่” ในการดูแลศาสนา คือ เป็นของทุกคน พุทธบริษัททั้งสี่ ไม่ใช่แค่สำนักพุทธ หรือ มหาเถระสมาคม แม้ปัจจุบัน จะมี กฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ แต่หากว่าพบ “สงฆ์” ทำผิด ก็ต้องช่วยกัน ตักเตือน แก้ไข ให้เรื่องร้ายแรงก็ต้องเอาออกไป
You might be intertested in this news.
Mostview
อะไรคืออุปสรรค ที่ แมนยูฯ ของ อเลฮานโดร การ์นาโช่ (ชมคลิป)
อะไรคืออุปสรรค ที่ แมนยูฯ ของ อเลฮานโดร การ์นาโช่ (ชมคลิป)
คำตอบความอดทนของอาร์เซนอล ทำไมจึงต้องเป็น มาร์ติน ซูบิเมนดี้ (ชมคลิป)
คำตอบความอดทนของอาร์เซนอล ทำไมจึงต้องเป็น มาร์ติน ซูบิเมนดี้ (ชมคลิป)
แนวโน้มราคาทองคําวันนี้ (16ก.ค.68) ทยอยซื้อสะสม
แนวโน้มราคาทองคําวันนี้ (16ก.ค.68) ทยอยซื้อสะสม
แนวโน้มตลาดวันนี้ (14ก.ค.68) ความกังวลภาษียังกดดัน
แนวโน้มตลาดวันนี้ (14ก.ค.68) ความกังวลภาษียังกดดัน
แนวโน้มราคาทองคําวันนี้ (14ก.ค.68) หาจังหวะขายทํากําไร
แนวโน้มราคาทองคําวันนี้ (14ก.ค.68) หาจังหวะขายทํากําไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
