คำถามที่สำคัญกว่า...ควรเลิกหรือไม่เลิก "ทัศนศึกษา"
by Trust News, 3 กุมภาพันธ์ 2568
อะไร คือ สิ่งที่ “เรา” ควรต้องเรียนรู้ ตั้งคำถาม และหาทางป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุโศกสลด จากเหตุรถทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ประสบอุบัติเหตุไฟลุกไหม้ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 23 ศพ ที่บริเวณหน้าเซียร์รังสิต ตรงข้ามซอยพหลโยธิน 72 บริเวณถนนวิภาวดีขาเข้า เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 สามารถเกิดขึ้นซ้ำรอยได้อีก
เช่นนั้นแล้ว “เรา” ไปเริ่มกันที่จุดเริ่มต้น นั่นคือ อะไรบ้างคือสิ่งที่สังคมควรตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การหามาตรการป้องกันที่เป็นรูปธรรม :
ระเบียบกรมการขนส่ง :
ตามระเบียบกรมการขนส่ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการอนุญาตให้ใช้รถที่ทำการแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า...
ข้อ 7/1 การแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงรถ ต้องไม่ทำให้น้ำหนักรวมสูงสุด (GVW.) เกินเกณฑ์ที่ผู้ผลิตกำหนด
การนำรถไปใช้งาน น้ำหนักสิ่งของที่บรรทุก (Payload) เมื่อรวมน้ำหนักรถ “ต้องไม่เกินน้ำหนักรวมสูงสุด ที่ผู้ผลิตกำหนด”
การแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงรถ “ต้องติดตั้งส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้งานตามลักษณะที่ขออุญาตให้ครบถ้วน”
การแก้ไขเพิ่มเติมส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถ หรือ ดัดแปลงรถ หรือ การเพิ่มสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้าไป ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยของรถในกรณีต่อไปนี้ “ให้เจ้าของรถยื่นขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมหรือดัดแปลงก่อนดำเนินการ”
1. โครงคัสซี
2. ตัวถัง
3. ระบบบังคับเลี้ยว
4. ระบบรองรับน้ำหนัก
5. ระบบขับเคลื่อนและช่วงล่าง
6. ช่วงล้อ
ฉะนั้นคำถามแรกของเรา คือ เมื่อรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ออกให้บริการประชาชนคันใด มีการดัดแปลงเพื่อให้ใช้ก๊าซ NGV ผู้ประกอบการได้มีการดำเนินการตามระเบียบดังกล่าว ของกรมการขนส่งได้อย่าง “ถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่?”
คำถามที่ 2 : จำนวนการติดตั้งถังก๊าซ NGV ภายในรถเกิดเหตุมีกี่ถัง?
โดยมาตรฐานแล้ว รถบัสโดยสาร หรือ รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป การติดตั้งถังก๊าซ NGV ที่ถูกต้องจะอยู่ที่ประมาณ 6-8 ถัง “เพื่อไม่ให้เกินน้ำหนักรวมสูงสุด” ตามระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด รวมถึง เพื่อให้แน่ใจได้ว่า “ถังก๊าซ NGV ที่ติดตั้งทั้งหมดต้องอยู่ในจุดติดตั้งที่ปลอดภัย”
เหตุใดจึงไม่ควรติดตั้ง ถังก๊าซ NGV มากเกินกว่าที่กำหนด?
คำตอบแบบให้ฟังเข้าใจง่ายๆ ก็คือ “เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร”
แล้วเพราะอะไร การติดตั้งถังก๊าซ NGV ในรถยนต์มากเกินไปจึงอาจนำไปสู่อันตราย?
สิ่งแรกที่ควรรู้สำหรับประเด็นนี้ คือ รู้หรือไม่ว่า... ถังก๊าซ NGV ขนาดมาตราฐานที่นำไปติดตั้งในรถบัสโดยสารนั้นมีน้ำหนักต่อถัง ก็มีน้ำหนักมากถึงประมาณ 200 กิโลกรัมเข้าไปแล้ว! ส่วนในกรณีที่รวม ก๊าซ NGV เต็มถัง น้ำหนักต่อถังจะอยู่ที่ประมาณ 250 กิโลกรัม
ฉะนั้น เมื่อรวมการติดตั้งถังก๊าซ NGV ในแบบมาตราฐานและถูกต้อง (6-8ถัง) เฉพาะน้ำหนักที่รถบัสโดยสาร หรือ รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปต้องแบกรับเพิ่มเติม ซึ่งยังไม่รวมน้ำหนักบรรทุกหรือผู้โดยสาร ก็คือ 1,500 - 2,000 กิโลกรัม หรือ 1.5 ตัน - 2 ตัน! เข้าไปแล้ว
น้ำหนักที่รถยนต์แบกรับเพิ่มเติมอันตรายอย่างไร?
คำตอบ คือ น้ำหนักที่ต้องแบกรับเพิ่มเติมย่อมต้องมีผลกระทบต่อ “คัสซีรถยนต์” ซึ่งถือเป็นโครงสร้างที่สำคัญไม่ต่างอะไรกับกระดูกสันหลังของรถยนต์แต่ละคัน “โดยเฉพาะหากน้ำหนักที่เพิ่มมานั้น มีน้ำหนักเกินกว่าที่คัสซีรถยนต์แต่ละคันถูกออกแบบมาให้รับน้ำหนักไหว”
ปัญหาที่มักพบกับบรรดารถบัสโดยสารที่มีการดัดแปลงมาใช้ ก๊าซ NGV?
เป็นที่ทราบกันดีว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการรถบัสโดยสารส่วนหนึ่งตัดสินใจ นำรถไปดัดแปลงเพื่อใช้ ก๊าซ NGV ที่มีราคาถูกกว่าแทน
แต่แม้ว่า ก๊าซ NGV จะมีราคาถูกกว่า น้ำมัน แต่สิ่งที่รถดัดแปลงเหล่านี้ต้องประสบปัญหาในปัจจุบัน คือ ปั๊มที่ให้บริการเริ่มมีน้อยลงตามลำดับ จนเป็นผลให้การเติม ก๊าซ NGV ในแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานพอสมควร จนส่งผลกระทบต่อระยะเวลาในการวิ่งรถเพื่อให้บริการ
จากปัญหานี้เอง ที่ทำให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่มักง่าย จึงใช้วิธีนำรถไปติดตั้งถังก๊าซ NGV เพิ่มอีกภายหลัง เพื่อให้รถสามารถวิ่งให้บริการได้ระยะทางยาวขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องหยุดพักเพื่อเติมก๊าซ
ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งแอบลักลอบนำรถไปติดตั้ง ถังก๊าซ NGV เพิ่มเติมแบบไร้มาตรฐาน โดยใช้บริการอู่เถื่อน และช่างที่เห็นแก่ได้ ไม่มีความรู้ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยมากพอ จนกระทั่งนำไปสู่ความเสี่ยงในชีวิตของผู้โดยสารที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่
นั่นเป็นเพราะช่างและผู้ประกอบการที่ไร้จิตสำนึกเหล่านั้น มักจะเลือก ถังก๊าซ NGV ไปติดตั้งไว้ในช่องขนส่ง หรือ “โซนเก็บของ” โดยทึกทักเอาเองว่า ช่องว่างที่เหลือระหว่าง “คัสซี” (Chassis) รถยนต์เหล่านั้น สามารถนำไป ติดถังก๊าซ NGV เพิ่มเติมได้
ซึ่งจากข้อมูลที่ TRUST NEWS ได้รับมานั้น โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่เห็นได้แก่ได้เหล่านั้น มักจะเพิ่มการติดตั้งถังก๊าซ NGV เข้าไปในรถบัสโดยสารเพิ่มจากเดิม อีกถึงอย่างน้อย 5 ถัง เพื่อให้สามารถวิ่งให้บริการได้ถึง 500 กิโลเมตรเป็นอย่างน้อยต่อการเติมหนึ่งครั้ง!
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ “คุณ” ยังจำบรรทัดต้นๆก่อนหน้านี้กันได้ใช่ไหมว่า น้ำหนักถังก๊าซ NGV มีน้ำหนักเท่าไหร่?
เฉพาะน้ำหนักถังก๊าซ NGV แบบมาตรฐานมาตรฐานและถูกต้อง (6-8ถัง) ที่ติดตั้งในรถบัสโดยสาร หรือ รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปอยู่ที่ 1,500 - 2,000 กิโลกรัม หรือ 1.5 ตัน - 2 ตัน!
ฉะนั้น เมื่อบวกกับน้ำหนักที่เพิ่มจากการติดตั้งถังก๊าซ NGV อีกอย่างน้อย 5 ถัง จึงทำให้น้ำหนักที่รถบัสโดยสารบางคันต้องแบกรับเพิ่มเติมขึ้นมาจึงอยู่ที่ประมาณ 2,750 - 3,250 กิโลกรัม หรือ ประมาณ 2.75 - 3.25 ตัน! ไม่รวมน้ำหนักบรรทุกและผู้โดยสาร
น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายได้อย่างไร?
การเพิ่มน้ำหนักให้ “คัสซีรถ” ต้องแบกน้ำหนักเกินกว่าที่ถูกออกแบบมา ถือเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้โดยสารเป็นอย่างยิ่ง
เพราะเมื่อใดก็ตามที่ คัสซีรถรับน้ำหนักไม่ไหว อาจทำให้คานกลางระหว่าง “คัสซีหัก” จนกระทั่งทำให้ “ถังก๊าซ NGV ทรุดตัวลง” เมื่อถังทรุดตัวลง แป๊ปท่อก๊าซที่ต่ออนุกรมไว้มันก็หักตามมา และเมื่อท่อก๊าซหัก ก๊าซในถังก็อาจจะหลุดรั่วออกมาจากหัวจ่าย และเมื่อใดก็ตามที่มันไปพบเจอกับประกายไฟ ก็จะทำให้เกิดการลุกไหม้รถยนต์ขึ้นได้นั่นเอง!
อู่มาตรฐาน VS อู่เถื่อน ?
ปัจจุบัน บริษัทรับดัดแปลงติดตั้งก๊าซ NGV ที่ได้มาตรฐานถูกต้อง ได้รับการรับรองจากภาครัฐ และมีใบรับประกันที่สามารถนำไปจดทะเบียนกับกรมขนส่งได้ทันที จะคิดราคาการติดตั้งสำหรับรถบัสขนส่ง และรถบรรทุก 10 ล้อ อยู่ที่ประมาณ 5-6 แสนบาทต่อคัน
แต่ในกรณีอู่เถื่อน จากข้อมูลที่ TRUST NEWS ได้รับมานั้น ราคาการติดตั้งจะถูกกว่าอู่มาตรฐานถึงเกือบ “ครึ่งต่อครึ่ง” โดยมีราคาเฉลี่ยประมาณเพียง 2 แสนบาทต่อคันเท่านั้น!
คำถามสุดท้าย :
อ่านมาถึงบรรทัดท้ายๆนี้ คำถามที่สำคัญที่สุด ที่เราในฐานะคนไทย ควรตั้งคำถามถึง “เจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดที่เกี่ยวข้องและอยู่ในฐานะผู้รักษากฎหมาย รวมถึงเป็นผู้ที่น่าจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดนี้ก็คือ
อะไรคือสิ่งที่ถูกละเลยมากไปกว่า “ความเห็นแก่ได้และโง่เขลา?”
และเหตุใดการกระทำที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์และคนไทยด้วยกันเอง จึงมักจะสามารถผ่านกระบวนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดที่เกี่ยวข้องได้!”

You might be intertested in this news.
Mostview
โทโฮคุ ชินคันเซ็น E5 ฮายาบุสะ 60 ตัวจริง จากหนังดัง "Bullet Train Explosion"
จากหนังแอ็คชั่นญี่ปุ่น "Bullet Train Explosion : ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ" เรื่องราวชินคันเซ็น ขบวนฮายาบุสะ 6050B ถูกคนร้ายขู่วางระเบิด ห้ามรถวิ่งต่ำกว่า 100 กม./ชม. กับข้อมูลที่จะพาไปตามรอยเส้นทางรถไฟที่วิ่งเร็วสุดที่ 320 กม./ชม.จากชิน อาโอโมริตรงสู่โตเกียว
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม...
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น เมื่อสองพี่น้องต่างอุดมการณ์แตกต่างกัน จะขึ้นครองบัลลังก์อาณาจักรศรีสัชนาลัย สุโขทัย ...
ไฟฟ้าดับยุโรปคลี่คลาย สเปนกู้คืนได้ 50% โปรตุเกสไม่พบการโจมตีทางไซเบอร์
สเปน กู้คืนไฟฟ้ากลับเข้าระบบแล้ว 50% หลังไฟฟ้าดับวงกว้างกว่า 10 ชั่วโมง ด้านโปรตุเกสเจอรับผลกระทบไม่ต่างกัน จนต้องประชุมฉุกเฉิน 2 ประเทศ เร่งหาสาเหตุ-แก้ปัญหา ขณะที่ ยังไม่พบหลักฐานชี้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค
ไขคดีใหม่ “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ
นาครั้งใหม่ ของภาพยนตร์อะนิเมะสืบสวนสุดเดือด “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ 2” จาก ค่ายยักษ์ใหญ่ บริษัท เดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส) จำกัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
