วันศุกร์, พฤษภาคม 2, 2568

NARIT ประกาศดาราศาสตร์ไทยขึ้นเบอร์ 1 อาเซียน ชู “Astronomy+” เสริมมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจไทย

by Trust News, 3 กุมภาพันธ์ 2568

สดร.ประกาศก้าวที่ยิ่งใหญ่ดาราศาสตร์ไทยขึ้นเบอร์ 1 อาเซียน เปิดตัว“Astronomy+” ขยายบทบาทของดาราศาสตร์ในหลายมิติสู่เทคโนโลยีชั้นสูง ยกระดับคุณภาพชีวิตเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยและสังคมโลก

นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ดาราศาสตร์ไม่เป็นเพียงการศึกษาท้องฟ้า หรือดูดาว แต่การศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงโลกที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ต WIFI กล้องถ่ายภาพดิจิทัล เครื่องสแกน MRI ฯลฯ การลงทุนในดาราศาสตร์ไม่เพียงแต่สร้างเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ในหลายด้าน แต่ยังช่วยพัฒนากำลังคนและสร้างแรงบันดาลใจได้ดีกว่าวิทยาศาสตร์ในสาขาอื่น ๆ 16 ปีที่ผ่านมา NARIT มุ่งใช้โจทย์ที่ท้าทายที่สุดทางดาราศาสตร์ เป็นเครื่องมือผลักดันนวัตกรรมล้ำหน้า ผลักดันเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นเพื่อใช้ในงานวิจัย ใช้ดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือสร้างจินตนาการ สร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาวิทยาศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ผู้อำนวยการ NARIT กล่าวต่อว่า นักวิจัยของ สดร.ได้ตีพิมพ์งานวิจัยมากกว่า 600 เรื่อง และมีการอ้างอิงถึงงานวิจัยเหล่านี้มากถึง 11,000 ครั้ง แสดงถึงคุณภาพงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยมีนักวิจัยหญิงและชายในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังมีนักดาราศาสตร์ไทยที่ได้รับโอกาสในการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (JWST : James Webb Space Telescope) ศึกษาวิจัยกาแล็กซีที่ไกลที่สุด และศึกษาดาวระเบิด การสิ้นอายุขัยในระบบไฮเปอร์โนวา ซึ่งได้จำนวนชั่วโมงในการใช้กล้องมากกว่าพันชั่วโมงของเวลาการใช้กล้องทั้งหมด คิดเทียบเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทย ในการแข่งขันในเวทีโลก นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยด้านโบราณดาราศาสตร์ เชื่อมโยงความรู้ดาราศาสตร์กับประวัติศาสตร์ หาอายุของโบราณสถานของไทย จากการเปลี่ยนตำแหน่งของดาวฤกษ์ รวมไปถึงปฏิทินจันทรคติ ที่ทาง NARIT รวบรวมข้อมูลใหม่เที่มีความแม่นยำตามหลักวิชาการด้านดาราศาสตร์ หวังว่าจะได้การยอมรับและนำไปใช้ในหมู่ของราชบัณฑิต พราห์ม เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา และการจัดงานประเพณีใหม่

นายศรัณย์ กล่าวอีกว่า NARIT ยังมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรระดับโลก โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยทางดาราศาสตร์ และการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัย นอกจากนั้น NARIT ยังพัฒนาศึกษาค้นคว้าด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง เพื่อพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือที่ตอบโจทย์งานวิจัยขั้นแนวหน้ามาเป็นลำดับ เพื่อการพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า และพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไลดาร์สำหรับวัดค่าฝุ่นละออองในอากาศ การขึ้นรูปโลหะที่เป็นแมกนีเซียมสำหรับสร้างอุปกรณืวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ในอวกาศ เทคโนโลยีฟิล์มบางและการชุบโลหะให้กับกระจกกล้องโทรทัศน์ หรือ การออกแบบและประกอบดาวเทียม TSC-1 ดาวเทียมขนาดไมโครหนักราว 100 กิโลกรัม ที่ติดตั้งกล้องถ่ายภาพหลายความยาวคลื่น นอกจากนี้ ยังให้บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์แก่ประชาชน ผ่านหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน 6 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ.เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา สงขลา และพิษณุโลก เพื่อกระจายความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและทัดเทียมกัน

"ปัจจุบันมีประชาชนให้ความสนใจใช้บริการท้องฟ้าจำลอง กว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ และพร้อมขับเคลื่อนโครงการสำคัญ “มอบกล้องโทรทรรศน์และท้องฟ้าจำลอง” ให้กับโรงเรียน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ดาราศาสตร์ จนทำให้ NARIT ได้รับรางวัลองค์กร ที่มีการจัดกิจกรรม Outreach ที่ดีที่สุดในโลกจากสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในโครงการวิจัยระดับโลก เช่น CTA, EAO, GOTO, JUNO, และ ILRS เพื่อแบ่งปันความรู้และยกระดับการศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์ในประเทศไทย รวมทั้งการขยายโอกาสนำเรื่องดาราศาสตร์ไปสู่คนทุกกลุ่มโดยเฉพาะเด็กๆ ผู้พิการทางสายตา เพื่อสร้างจินตนาการและแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ต่อไป ย้ำว่าดาราศาสตร์ไม่ทิ้่งใครไว้เบื้องหลัง" ผู้อำนวยการ NARIT กล่าว

ด้าน นายวิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการ NARIT กล่าวว่า ก้าวต่อไปของ NARIT คือแนวคิด Astronomy+ ดาราศาสตร์จะมีบทบาทในบริบทที่กว้างขึ้น ทุกอย่างที่ยึดโยงกับดาราศาสตร์จะมีประโยชน์กับสังคมแบบจับต้องได้ พร้อมขับเคลื่อนงานวิจัยและงานพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยแนวคิดดังกล่าวแบ่งเป็น

Research+ การวิจัยดาราศาสตร์ในอนาคตจะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาในระดับ Frontier ได้แก่ การศึกษากาแล็กซีในยุคแรก การระเบิดของดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุด และการสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ พร้อมมุ่งสู่การทำความเข้าใจธรรมชาติของเอกภพอย่างลึกซึ้ง ด้านการสำรวจดวงจันทร์และอวกาศห้วงลึก นักดาราศาสตร์ไทยจะได้รับข้อมูลจากการสำรวจที่ล้ำหน้า ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและการศึกษาวิจัย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเข้าใจในธรรมชาติของดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะในช่วง Solar Maximum ที่มีพลังงานสูงมากในทุก ๆ 11 ปี นอกจากนี้ งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ยังมุ่งเน้นการศึกษามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ ACSM 3 ในสามภูมิภาคหลัก ได้แก่ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และสงขลา เพื่อเก็บข้อมูลทางเคมีและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาวิธีแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน

Infrastructure+ ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัย และบุคลากร ได้แก่ การสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส ขนาด 13 เมตร สำหรับศึกษาทางด้านยีออเดซี ใช้เทคนิคดาราศาสตร์เก็บข้อมูลการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก ยูเรเซียนเพลท ซุนดาเพลท และ อินเดียนเพลท รวมถึงการเกิดแผ่นดินไหวด้วยความแม่นยำระดับมิลลิเมตรต่อปี โดยจะติดตั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และสงขลา พร้อมเปิดให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันในระดับโลก

การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงเพื่อรองรับการจัดเก็บข้อมูลดาราศาสตร์ขนาดใหญ่ ที่จะกลายเป็น "ศูนย์ข้อมูลดาราศาสตร์แห่งชาติ" เพื่อเก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์และเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าถึงและสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ และศึกษาวิจัยได้ การพัฒนาอุปกรณ์รับสัญญาณในช่วงคลื่นเทราเฮิร์ต SIS Mixer ที่ทำงานในสภาวะอุณหภูมิติดลบยิ่งยวดถึง 4 เคลวิน สำหรับรับสัญญาณดาราศาสตร์วิทยุ ออกแบบและพัฒนาโดยทีมวิศวกร NARIT ตั้งแต่การสร้างและออกแบบระบบ การขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูงสำหรับใช้เป็นส่วนประกอบต่าง ๆ รวมถึงกระบวนการ Wire bonding ซึ่งทีมวิศวกร NARIT สามารถประดิษฐ์และพัฒนาได้เอง องค์ความรู้ที่ได้สามารถถ่ายทอด และต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์ ที่มีรูปแบบการใช้โปรเซสเวอร์ที่ต้องหล่อเย็นจัดเช่นเดียวกัน ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวในภาคอุตสาหกรรมถือว่ายังมีน้อยมากในประเทศไทย

นอกจากนี้ NARIT กำลังออกแบบและผลิตกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8 เมตร สำหรับนำไปติดตั้ง ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา พิษณุโลก (หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนแห่งที่ 5 ของไทย) และฐานกล้องโทรทรรศน์ติดตามวัตถุท้องฟ้าอัตโนมัติความแม่นยำสูง รวมถึง Atmospheric LiDAR อุปกรณ์ไลดาร์สำหรับศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ศึกษาปัญหามลพิษทางอากาศ ทำให้ทราบถึงความหนาแน่นของอนุภาคชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ แต่ละระดับความสูง ไปจนถึงชั้นบนสุดที่มลภาวะสามารถผสมเข้ากับชั้นบรรยากาศได้ (Mixing Height) ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงค่าดัชนีฝุ่น PM2.5 ในแต่ละวัน สามารถวัดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน รวมทั้งสามารถแยกตัวการที่สำคัญไม่ใช่แค่การเผาจากภาคการเกษตร และไนตรัสออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่มาจากภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้เกิด PM 2.5 ได้

สำหรับบทบาททางด้านเทคโนโลยีอวกาศ ขณะนี้ทีมวิศวกรไทยกำลังพัฒนาดาวเทียม TSC-1 ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ ขนาดน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ภายใต้ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย โดยขึ้นรูปชิ้นส่วนโครงสร้างและประกอบภายในห้องปฏิบัติการทดสอบและประกอบดาวเทียม (Clean room) ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ. เชียงใหม่ เพื่อจะนำขึ้นสู่อวกาศในปี 2570 และสร้างอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ที่ล้ำสมัย ได้แก่ อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ (Moon-Aiming Thai-Chinese Hodoscope: MATCH) ที่จะส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์กับยานฉางเอ๋อ 7 และอุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณนิวตรอนที่สะท้อนจากพื้นผิวดวงจันทร์ (Assessing Lunar Ion-Generated Neutrons: ALIGN) ส่งไปกับยานฉางเอ๋อ 8 ที่จะไปลงจอดบนพื้นผิวด้านไกลดวงจันทร์ ภายใต้โครงการสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (ILRS)

รองผู้อำนวยการ NARIT กล่าวอีกว่า สุดท้าย Astronomy Outreach+ งานด้านการสร้างความตระหนักและการสื่อสารดาราศาสตร์ สู่สังคมยังคงขับเคลื่อนต่อไปอย่างเข้มข้น โดย NARIT วางแผนจัดกิจกรรม Star Party ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปีหน้า ซึ่งจะได้รับการบันทึกเป็น World Record ในสถานที่ใหม่ บรรยากาศใหม่ๆ พร้อมขยายกิจกรรม Outreach เพื่อส่งเสริมความตระหนักด้านดาราศาสตร์ไปสู่สังคมไทยและทั่วโลก ผ่านการขับเคลื่อนของศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก (ITCA) รวมทั้งยังเดินหน้าดาราศาสตร์เพื่อคนทั้งมวล สานต่อการขยายโอกาสการเรียนรู้ ไปสู่กลุ่มผู้มีความต้องการพิเศษ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เรามีแผนจะสร้างแอปฯ แจ้งเตือนดาวตกโดยนำข้อมูลมาจากอุปกรณ์แจ้งเตือนดาวตกของจีน ที่สามารถให้ข้อมูลวัน เวลา ความเร็ว และทิศทาง มทำให้คนไทยสามารถอธิษฐานขอพรได้แม้ว่าจะได้ออกไปยืนดู เพียงแค่เปิดการแจ้งเตือนเท่านั้น

นายวิภู กล่าวด้วยว่า การขับเคลื่อนภารกิจด้านต่าง ๆ ทั้งการวิจัยดาราศาสตร์ที่มุ่งเน้นงานวิจัยขั้นแนวหน้าที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนากำลังคน รวมถึงการสร้างความตระหนักด้านดาราศาสตร์สู่สังคม โดยความร่วมมือกับองค์กรระดับโลก ไม่เพียงแต่ยกระดับงานวิจัยในประเทศ แต่ยังผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านดาราศาสตร์ในระดับโลก พร้อมกับการสร้างคุณค่าและมูลค่า อันเป็นความหวังที่จับต้องได้กลับสู่สังคมไทย.


You might be intertested in this news.

Mostview

โทโฮคุ ชินคันเซ็น E5 ฮายาบุสะ 60 ตัวจริง จากหนังดัง "Bullet Train Explosion"

จากหนังแอ็คชั่นญี่ปุ่น "Bullet Train Explosion : ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ" เรื่องราวชินคันเซ็น ขบวนฮายาบุสะ 6050B ถูกคนร้ายขู่วางระเบิด ห้ามรถวิ่งต่ำกว่า 100 กม./ชม. กับข้อมูลที่จะพาไปตามรอยเส้นทางรถไฟที่วิ่งเร็วสุดที่ 320 กม./ชม.จากชิน อาโอโมริตรงสู่โตเกียว

แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม

แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม...

ไฟฟ้าดับยุโรปคลี่คลาย สเปนกู้คืนได้ 50% โปรตุเกสไม่พบการโจมตีทางไซเบอร์

สเปน กู้คืนไฟฟ้ากลับเข้าระบบแล้ว 50% หลังไฟฟ้าดับวงกว้างกว่า 10 ชั่วโมง ด้านโปรตุเกสเจอรับผลกระทบไม่ต่างกัน จนต้องประชุมฉุกเฉิน 2 ประเทศ เร่งหาสาเหตุ-แก้ปัญหา ขณะที่ ยังไม่พบหลักฐานชี้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค

ไขคดีใหม่ “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ

นาครั้งใหม่ ของภาพยนตร์อะนิเมะสืบสวนสุดเดือด “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ 2” จาก ค่ายยักษ์ใหญ่ บริษัท เดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส) จำกัด

ลิเวอร์พูลแชมป์ลีก20สมัย ความยืดหยุ่นสู่ความสำเร็จ (ชมคลิป)

ลิเวอร์พูลแชมป์ลีก20สมัย ความยืดหยุ่นสู่ความสำเร็จ

TrustNEws Line