วันเสาร์, พฤษภาคม 3, 2568

แนะสอบคดี ‘ผู้กำกับโจ้’ ตาม “ข้อกำหนดแมนเดลา” คำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องขัง

by Trust News, 13 มีนาคม 2568

นักวิจัยแอมเนสตี้แนะไทยสอบคดี ‘ผู้กำกับโจ้’ ตาม “ข้อกำหนดแมนเดลา” และคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องขัง...

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แสดงความกังวลต่อการเสียชีวิตของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ “ผู้กำกับโจ้” อดีตนายตำรวจที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในคดีทรมานผู้ต้องหา โดยแอมเนสตี้ได้ตั้งคำถามถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิต และความรับผิดชอบของรัฐในการปกป้องชีวิตของผู้ต้องขัง

เพราะถึงแม้กรมราชทัณฑ์จะรายงานว่า อดีตผู้กำกับโจ้เสียชีวิตจากการ “ฆ่าตัวตาย” ภายในห้องขัง แต่รายละเอียดหลายอย่างยังคงเป็นที่สงสัย ทั้งจากครอบครัวของเขาและสังคม โดยเฉพาะรายงานที่ระบุว่าพบร่องรอยเลือดในที่เกิดเหตุ ขณะที่ผลชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่สังคมควรตระหนักเกี่ยวกับกรณีนี้คือการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา 2 ด้านที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวในประเทศไทย กรณีของ "อดีตผู้กำกับโจ้" ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงช่องว่างในการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะในช่วงที่เขายังเป็นตำรวจได้ใช้วิธีการทรมานผู้ต้องสงสัยเพื่อให้รับสารภาพระหว่างกระบวนการสืบสวนด้วยการคลุมถุงดำ สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมไทย ยังไม่เคารพสิทธิและไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ที่ถูกควบคุมตัวในประเทศไทย โดยนี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีที่ที่มีการทรมานในการควบคุมตัวในไทย

ขณะเดียวกันเมื่ออดีตผู้กำกับโจ้ตกเป็นผู้ต้องขังเองหลังจากนั้น กลับมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยภายในเรือนจำ รวมถึงข้อสันนิษฐานว่าเขาอาจไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีชัดเจน ทั้งเรื่องมาตรการคุ้มครองในเรือนจำและการดูแลจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งนำไปสู่คำถามเกี่ยวกับความเป็นธรรมและมาตรฐานของระบบเรือนจำไทย

“การตายของผู้ต้องขังในเรือนจำต้องได้รับการสืบสวนอย่างโปร่งใส เป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล การสอบสวนภายในของกรมราชทัณฑ์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวไม่ควรเป็นผู้สอบสวนตัวเอง” 

“แม้จะเป็นนักโทษหรือคนที่ทำผิดจากคดีอะไรมาก็ตาม ทุกคนยังคงมีสิทธิที่จะมีชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และรัฐมีหน้าที่เคารพและปกป้องสิทธินั้น” ชนาธิป นักวิจัยระดับภูมิภาค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว 

จากคดีคลุมถุงดำ สู่คำพิพากษา และการเสียชีวิตในเรือนจำ

ย้อนกลับไปในปี 2564 มีคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ภาพของอดีตผู้กำกับโจ้และตำรวจอีก 6 นายใช้ถุงดำคลุมศีรษะ “จิระพงษ์ ธนะพัฒน์” หรือ “มาวิน” ผู้ต้องหาคดียาเสพติดในสถานีตำรวจภูธรนครสวรรค์ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต คลิปดังกล่าวกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่นำไปสู่การดำเนินคดีต่ออดีตนายตำรวจระดับสูงผู้นี้

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาประหารชีวิตเขา ก่อนจะลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ถือเป็นคดีสำคัญที่เปิดเผยการใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในระบบตำรวจไทย แต่ 4 ปีต่อมา กลับเกิดคำถามใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่ออดีตผู้กระทำความผิดในคดีทรมานต้องมาจบชีวิตลงอย่างมีเงื่อนงำในเรือนจำ

ในประเด็นนี้ ชนาธิป นักวิจัยระดับภูมิภาคของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุถึงความจำเป็นในการแยกแยะสองประเด็น ในด้านหนึ่ง การทรมานผู้ต้องสงสัยของผู้เสียชีวิตและพรรคพวกนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงแน่นอน แต่ในขณะเดียวกัน การเสียชีวิตของผู้กำกับโจ้ ก็ชวนให้สังคมตั้งถึงความปลอดภัยของสถานที่ควบคุมตัวของทางการไทยหรือในเรือนจำเพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำในเรือนจำ เมื่อมีกรณีของอดีตผู้กำกับโจ้ยิ่งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราต้องแก้ไขและคำนึงถึงสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของผู้ต้องหา

สิทธิของผู้ต้องหา แม้กระทำผิด ก็ไม่ควรต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิในเรือนจำ

ภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชนสากล แม้บุคคลจะถูกตัดสินว่ามีความผิด พวกเขาก็ยังคงมีสิทธิพื้นฐานที่รัฐต้องปกป้อง โดยเฉพาะสิทธิในการมีชีวิตและไม่ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีของ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติ (CAT) ตั้งแต่ปี 2550 และได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย พ.ศ. 2565 มีเป้าหมายให้การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ภายใต้กฎหมายไทย และกำหนดให้รัฐมีหน้าที่สืบสวนการเสียชีวิตในการควบคุมตัวว่าได้เกิดการทรมานขึ้นหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังคงมีปัญหา และยังคงมีการตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการซึ่งรับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากมีสัดส่วนของภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมตัว เป็นส่วนใหญ่ 

“เรือนจำควรเป็นสถานที่ที่รับประกันความปลอดภัยของผู้ต้องขังและฟื้นฟูให้พวกเขากลับเข้าสู่สังคมได้ ไม่ใช่สถานที่ที่พวกเขาต้องหวาดกลัวว่าจะมีชีวิตรอดหรือไม่ กลไกที่โปร่งใสและเป็นอิสระเป็นหัวใจของการสร้างความเชื่อมั่นนี้”  ชนาธิป กล่าว 
โดยชนาธิปบอกว่า กรณีของอดีตผู้กำกับโจ้ที่เสียชีวิตในเรือนจำ ชวนให้เราจับตาว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยจะดำเนินการแบบใด เพื่อให้มีความโปร่งใสและเป็นอิสระในการสืบสวนและค้นหาข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตในการควบคุมตัวครั้งนี้ 

มาตรฐานสากล กฎของแมนเดลา และระเบียบปฏิบัติมินนิโซตา

ตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatmentof Prisoners) หรือ “ข้อกำหนดแมนเดลา” (Mandela Rules) ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี แม้จะอยู่ในเรือนจำ รวมถึงสิทธิในการได้รับการดูแลด้านสุขภาพ และการคุ้มครองจากความรุนแรงหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย
นอกจากนี้ยังมี พิธีสารมินนิโซตา (Minnesota Protocol) กำหนดแนวทางที่ชัดเจนว่า การเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของรัฐ ต้องได้รับการสืบสวนโดยองค์กรอิสระและปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการปกปิดข้อเท็จจริงหรือการละเว้นความรับผิดชอบ

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงขอส่งเสียงให้ทางการไทยเปิดให้มีการสอบสวนโดยองค์กรอิสระ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เพราะหากรัฐยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าผู้ต้องขังจะปลอดภัย ก็เท่ากับว่าความยุติธรรมไทยยังมีจุดบอดที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยจากกรณีนี้ จึงขอให้ทางการไทยดำเนินการดังต่อไปนี้

 1. ให้มีการสอบสวนการเสียชีวิตของอดีตผู้กำกับโจ้อย่างเป็นอิสระ โดยอิงตามกฎหมายและหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศข้างต้น โดยเฉพาะพิธีสารมินิโซตาและต้องไม่มีการแทรกแซงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัว
 2. ปรับปรุงมาตรฐานเรือนจำไทยเพื่อให้เป็นไปตามกฎของแมนเดลา และรับประกันว่าผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักการสากล
 3. ดำเนินมาตรการป้องกันการทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายในทุกระดับของกระบวนการยุติธรรม

“ความยุติธรรมไม่ได้หมายถึงแค่การลงโทษผู้กระทำผิด แต่หมายถึงการปกป้องทุกชีวิตจากความอยุติธรรม” ชนาธิป กล่าวทิ้งท้าย

 


You might be intertested in this news.

Mostview

โทโฮคุ ชินคันเซ็น E5 ฮายาบุสะ 60 ตัวจริง จากหนังดัง "Bullet Train Explosion"

จากหนังแอ็คชั่นญี่ปุ่น "Bullet Train Explosion : ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ" เรื่องราวชินคันเซ็น ขบวนฮายาบุสะ 6050B ถูกคนร้ายขู่วางระเบิด ห้ามรถวิ่งต่ำกว่า 100 กม./ชม. กับข้อมูลที่จะพาไปตามรอยเส้นทางรถไฟที่วิ่งเร็วสุดที่ 320 กม./ชม.จากชิน อาโอโมริตรงสู่โตเกียว

แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม

แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม...

ไฟฟ้าดับยุโรปคลี่คลาย สเปนกู้คืนได้ 50% โปรตุเกสไม่พบการโจมตีทางไซเบอร์

สเปน กู้คืนไฟฟ้ากลับเข้าระบบแล้ว 50% หลังไฟฟ้าดับวงกว้างกว่า 10 ชั่วโมง ด้านโปรตุเกสเจอรับผลกระทบไม่ต่างกัน จนต้องประชุมฉุกเฉิน 2 ประเทศ เร่งหาสาเหตุ-แก้ปัญหา ขณะที่ ยังไม่พบหลักฐานชี้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค

ลิเวอร์พูลแชมป์ลีก20สมัย ความยืดหยุ่นสู่ความสำเร็จ (ชมคลิป)

ลิเวอร์พูลแชมป์ลีก20สมัย ความยืดหยุ่นสู่ความสำเร็จ

การบินไทย ตั้ง บ.ร่วมทุนกับ KMC ดัดแปลงโบอิ้ง 777-300ER เป็นเครื่องบินขนสินค้า

การบินไทยทำ MOU กับ KMC ผู้เชี่ยวชาญในการดัดแปลงอากาศยาน ในการนำเครื่องบินโดยสาร โบอิ้ง 777-300ER ทำเป็นเครื่องคาร์โกส่งสินค้าพิสัยไกลแบบมีประตูขนสินค้าที่ลำตัวส่วนหน้า ที่ฝ่ายช่างดอนเมือง-อู่ตะเภา อันจะสร้างการจ้างงานยกระดับอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานไทย

TrustNEws Line