วันศุกร์, พฤษภาคม 2, 2568

ราชบัณฑิตวิเคราะห์แผ่นดินไหว ควรย้ายจากคอนโดไหม?

by Trust News, 30 มีนาคม 2568

ราชบัณฑิตวิเคราะห์แผ่นดินไหว ควรย้ายจากคอนโดไหม?

หลังเกิดเหตุการณ์ แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในประเทศไทย จนเป็นผลให้อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย และทำให้อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินพังทลาย

ล่าสุด มีข้อสังเกตที่น่าสนใจจาก ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา และ อดีตประธานคณะกรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมโยธา สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ซึ่งได้โพสต์แสดงความเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า...

ข้อสังเกตเบื้องต้นกรณีการพังทลายของโครงสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่จากเหตุแผ่นดินไหว

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 2568) เริ่มประมาณ 13.25 น. ณ จุดศูนย์กลางที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ ด้วยขนาด 7.7 ซึ่งส่งแรงสั่นสะเทือนหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัด

เหตุการณ์ที่สร้างความหวาดหวั่นสำหรับผู้ทำงานหรืออยู่อาศัยในอาคารสูง คือ การพังทลายอย่างง่ายดายสิ้นสุดภายในเพียง 8 วินาที ของโครงสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ทั้งที่ตามทฤษฎีแล้ว การสั่นสะเทือนซึ่งเป็นผลจากแผ่นดินไหวในระยะไกล ผ่านดินอ่อนบริเวณภาคกลางมาถึงกรุงเทพฯ จะเหลือแต่คลื่นยาวความถี่ต่ำ ซึ่งอาจทำให้อาคารสูงแกว่งไกวได้ อาจมีการแตกร้าวเสียหายของปูนฉาบบ้าง แต่โอกาสที่จะพังทลายเป็นขนมชั้นแบบอาคาร คสล. นี้ ยากมาก หากได้รับการออกแบบและก่อสร้างที่ถูกต้อง

จากการสังเกตลักษณะการพังทลายที่เกิดขึ้นในแนวดิ่ง (Vertical Collapse) คล้ายกับการถล่มแบบขนมชั้น หรือ แพนเค้ก ทำให้อดนึกถึงภาพการถล่มของอาคารโรงแรมรอยัลพลาซ่าที่นครราชสีมา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2536

ซึ่งผมได้นำทีม วสท. เข้าไปสำรวจ ซึ่ง พบว่า เป็นอาคารที่ต่อเติมแล้วอยู่ได้อีก 5-6 ปีด้วยความปลอดภัยหมิ่นเหม่ เรียกว่า Factor of Safety ใกล้ 1.0 มากๆ เมื่อเสาเกิดการ Creep กำลังเสาลดลงถึงจุดพอดีกับฟางเส้นสุดท้าย เสาต้นแรกที่วิบัติ ก็ถ่ายน้ำหนักไปยังต้นอื่นๆ จนทุกต้นพังใกล้กันภายในไม่กี่วินาที สถานการณ์เหมือนอาคารลอยอยู่ในอากาศ และถล่มลงมาด้วยน้ำหนักตัวเอง ไม่มีการเอียง การพังของอาคาร สตง. จึงคล้ายกัน แต่ด้วยสาเหตุต่างกัน

จากคลิปวิดีโอที่ได้รับแชร์มาทางโซเชียลมีเดีย เมื่อลองเปิดดูด้วยความเร็วต่ำ ซึ่งน่าสนใจมาก โดยสามารถชมได้ทางยูทูปที่ผมทำไว้

เราจะสังเกตได้ชัดว่า ก่อนที่อาคารจะพังทลายเป็นแนวดิ่งลงมา จุดวิบัติแรกที่มองเห็นชัด คือ เสาสองต้น ที่เห็นในภาพที่ผม snapshot และวงสีเหลือง (แสดงไน Comments) ไว้

หลังจากการวิเคราะห์เบื้องต้นแล้ว จึงได้ตั้งเป็นข้อสังเกตดังนี้ :

(1) อาคารมีการพังทลายในแนวดิ่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเสารับน้ำหนักชั้นล่างวิบัติพร้อมกันหรือในเวลาใกล้เคียงกัน

(2) ไม่พบการเอียงกะเท่เร่ หรือการทรุดตัวแบบไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของอาคารที่พังทลายเนื่องจากแรงแผ่นดินไหว

(3) จากภาพที่ปรากฏ โครงสร้างส่วนบนของอาคารไม่แสดงการเสียรูปหรือการยุบตัวก่อนที่จะเกิดการพังทลาย

(4) การแกว่งตัวจากคลื่นยาว จะเป็นลักษณะโยกไปมา และมีการบิดตัวรอบแกนดิ่งด้วย จากภาพของนผังอาคาร จะเห็นว่า ศูนย์กลางจุดต้านการบิดตัวจะอยู่บริเวณกำแพงโถงลิฟท์ ซึ่งไม่ได้ตรงกับศูนย์กลางของผังอาคาร (แสดงใน comment แรก) การบิดตัวจึงเกิดโดยไม่สมมาตร มีผลทำให้เสาต่างๆ โดยรอบได้รับแรงกดผสมกับแรงเฉือนจากการบิดตัวของอาคาร ถ้าเสาไม่ได้ถูกออกแบบไว้ ก็อาจวิบัติด้วยแรงเฉือนพร้อมกับแรงหักกลางได้

(5) เสาที่วิบัติไปแล้ว เมื่อรับแรงไม่ได้ ก็จะถ่ายให้เสาถัดไป รวมทั้งผนังรอบปล่องลิฟท์ด้วย เมื่อโครงสร้างหลักวิบัติตามกันเป็นโดมิโนในเสี้ยววินาที อาคารก็จะขาลอย และจะตกกระแทกพื้นในแนวดิ่ง คล้ายยกอาคารลอยจากพื้น แล้วปล่อยให้ตกลงมาด้วยน้ำหนักตัวเอง การพังทลายในลักษณะนี้ยังคล้ายกับการระเบิดตึก ซึ่งต้องวางระเบิดให้เสาทุกต้นระเบิดพร้อมกัน อาคารจึงไม่เกิดการเอียง แต่จะพังทลายด้วยน้ำหนักโน้มถ่วงของตนเอง

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้น อาคารนี้เป็นอาคารสูง 30 ชั้น โดยทฤษฎีแล้ว อาคารสูงถ้าออกแบบถูกต้อง น่าจะปลอดภัยกว่าอาคารเตี้ยเสียอีก

เพราะมาตรฐานในการก่อสร้างและการใช้วัสดุ มีการควบคุมที่เข้มงวด แต่กรณีนี้ที่อาคาร สตง. ถล่มลงมาใช้เวลาเพียง 8 วินาที เพราะอะไร? ซึ่งจะทราบได้จริง ก็ต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดโดยวิศวกรโครงสร้างอย่างเป็นทางการต่อไป

หมายเหตุเพิ่มเติม : ผมได้เห็นอีกหลายคลิป และมีบางคลิบที่แสดงให้เห็นว่า ชั้นบนดาดฟ้าที่ยังเสร็จไม่สมบูรณ์ จุดใกล้ๆเครนที่ค้างอยู่ มีการวิบัติก่อรที่ทั้งตึกจะถล่มลงมา แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ จุดไหนวิบัติก่อน เรากำลังพยายามหาสาเหตุว่า ที่ตึกพังลงมาราบเป็นหน้ากลอง (ที่ทำให้ผู้ติดอยู่มีโอกาสรอดยาก) อะไรเป็นสาเหตุสำคัญ

การวิบัติที่เกิดบนชั้นบนที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ถึงมันจะพังลงมา มันก็แค่กองอยู่บนชั้นล่างๆถัดๆไป อาจเอียงกระเท่เร่บ้าง แต่มันไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้อาคารถล่มในแนวดิ่ง การที่อาคารพังถล่มทลายในแนวดิ่ง โดยมีการเอียงน้อยมากแบบนี้ น่าจะเกิดได้เพราะเสาชั้นล่างวิบัติพร้อมหรือใกล้เคียงกันในเวลาเสี้ยววินาทีเท่านั้น

หมายเหตุเพิ่มเติม 2 : อีกประการหนึ่ง ลองจินตนาการว่า เราต้องใช้พลังงานมหาศาลขนาดไหนในการทำให้อาคารนี้ราบเป็นหน้ากลองแบบนี้ มันเป็นการทำงานของ F = ma โดย m คือ มวลของอาคาร ที่ขาลอย เหมือนถูกยกลอยแล้วปล่อยให้ gravity ทำงาน การพังจากช้้นบนๆลงมา คงไม่มีพลังงานเพียงพอที่จะถล่มอาคารให้ราบแบบกรณีนี้ครับ

แล้วหนูควรย้ายออกจากคอนโดไหมคะ?

ศ. ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย

30 มีนาคม 2568

บ่ายวันศุกร์ ในขณะที่ผมนั่งติดตามข่าวแผ่นดินไหวอย่างจดจ่อ ก็มีเสียงเคาะประตูเบาๆ เมื่อเปิดประตู ก็พบ "ขวัญ" นักศึกษาปีสี่ที่กำลังทำโครงงานเกี่ยวกับการออกแบบอาคาร เธอมีคำถามมากมายโดยเฉพาะความกังวลในการต้องอาศัยในคอนโดสูง 40 ชั้น หลังจากเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม ผมจึงเชิญให้เธอนั่งลง และเริ่มเล่าเรื่องราวที่ว่า...

"เมื่อครั้งที่ผมเริ่มเรียนวิศวกรรมโครงสร้าง อาจารย์ของผมเคยบอกว่า การออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวไม่เหมือนกับการออกแบบทั่วไป มันเป็นเรื่องของชีวิตและความปลอดภัย"

ผมลุกขึ้นเดินไปที่กระดานไวท์บอร์ด วาดรูปอาคารง่ายๆ แล้วเริ่มอธิบาย

"หลักการแรกและสำคัญที่สุดคือ 'ความปลอดภัยของชีวิต' ทุกอย่างเริ่มจากตรงนี้" ผมขีดเส้นใต้ประโยคนี้บนกระดาน "อาคารอาจเสียหาย แต่ต้องไม่ถึงขั้นถล่มทลายจนคร่าชีวิตผู้คน"

ขวัญมองตามมือผมที่กำลังวาดเส้นแสดงการสั่นไหวของอาคาร

"เวลาเกิดแผ่นดินไหว อาคารต้องสามารถปกป้องชีวิตผู้คนได้ แม้ว่าตัวโครงสร้างจะได้รับความเสียหายก็ตาม นี่หมายความว่า อาคารต้องป้องกันการพังทลายโดยสิ้นเชิง ที่เราเรียกว่า Total Collapse เพื่อให้คนอพยพออกได้อย่างปลอดภัย"

สายตาของขวัญเปล่งประกายด้วยความเข้าใจ แต่ก็ยังมีคำถาม

"แล้วทำไมเราไม่ออกแบบให้อาคารไม่เสียหายเลยล่ะคะ?"

ผมยิ้ม นั่นเป็นคำถามที่ดี

"นั่นนำเราไปสู่หลักการข้อที่สอง 'ยอมรับว่าความเสียหายจะเกิดขึ้น แต่ไม่ยอมรับการถล่มทลายโดยสิ้นเชิง'"

ผมวาดรูปคลื่นแผ่นดินไหวบนกระดาน แล้วชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงและความไม่แน่นอนของมัน

"ต่างจากแรงลมหรือแรงโน้มถ่วง พลังงานจากแผ่นดินไหวนั้นมหาศาล เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความไม่แน่นอนสูง การออกแบบให้ไม่มีความเสียหายเลยนั้น ทั้งไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและไม่สามารถทำได้ในทางเทคนิค เราจึงยอมให้โครงสร้างมีความเสียหายในจุดที่ควบคุมได้ เพื่อดูดซับพลังงานมหาศาลนั้น แต่ต้องไม่ถึงขั้นถล่มทลายทั้งหลัง"

ขวัญพยักหน้า สีหน้ายังคงกังวล "แล้วหนูควรย้ายออกจากคอนโดไหมคะ?"

ผมส่ายหน้า "อาจารย์เชื่อว่าอาคารสูงที่ได้รับการออกแบบอย่างถูกต้องนั้นมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และไม่ควรกังวลจนเกินไป"

"แต่อาจารย์คะ ถ้าอย่างนั้น อาคาร สตง. ทำไมถึงถล่มทั้งหลังแบบนั้น?"

ผมถอนหายใจเบาๆ "นั่นคือคำถามที่สำคัญที่สุด และเป็นบทเรียนที่แพงที่สุดในวงการวิศวกรรมโครงสร้างของเรา อาคารที่ออกแบบอย่างถูกต้องตามหลักการต้านแผ่นดินไหว แม้จะเกิดความเสียหาย แต่ต้องไม่พังทลายทั้งหมดในทันที โดยเฉพาะกับแผ่นดินไหวที่จุดศูนย์กลางอยู่ไกลแบบนี้"

ผมชี้ไปที่ภาพถ่ายบนโต๊ะทำงาน ภาพอาคารที่เสียหายจากแผ่นดินไหว แต่ยังมีคนรอดชีวิต

"กรณีอาคาร สตง. นั้นเป็นกรณีพิเศษที่ต้องมีการสอบสวนอย่างละเอียด แต่ไม่ควรนำมาเป็นตัวอย่างทั่วไปสำหรับอาคารสูงในกรุงเทพฯ ทั้งหมด มันเป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติและไม่น่าจะเกิดขึ้นกับอาคารที่ออกแบบและก่อสร้างอย่างถูกต้อง"

ความวิตกของขวัญดูเบาบางลง "ขอบคุณมากค่ะอาจารย์ หนูเข้าใจมากขึ้นแล้ว"

เมื่อขวัญเดินออกจากห้องไป ผมอดคิดไม่ได้ว่า บทเรียนวันนี้ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่อยู่ในความตระหนักว่าทุกเส้นที่เราลากบนกระดาษ ทุกตัวเลขที่เราคำนวณ ล้วนมีผลต่อชีวิตมนุษย์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม แม้จะเป็นโศกนาฏกรรม แต่หากเราเรียนรู้และทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็จะเป็นบทเรียนล้ำค่าที่ช่วยปกป้องชีวิตผู้คนในอนาคต

 


You might be intertested in this news.

Mostview

โทโฮคุ ชินคันเซ็น E5 ฮายาบุสะ 60 ตัวจริง จากหนังดัง "Bullet Train Explosion"

จากหนังแอ็คชั่นญี่ปุ่น "Bullet Train Explosion : ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ" เรื่องราวชินคันเซ็น ขบวนฮายาบุสะ 6050B ถูกคนร้ายขู่วางระเบิด ห้ามรถวิ่งต่ำกว่า 100 กม./ชม. กับข้อมูลที่จะพาไปตามรอยเส้นทางรถไฟที่วิ่งเร็วสุดที่ 320 กม./ชม.จากชิน อาโอโมริตรงสู่โตเกียว

แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม

แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม...

ไฟฟ้าดับยุโรปคลี่คลาย สเปนกู้คืนได้ 50% โปรตุเกสไม่พบการโจมตีทางไซเบอร์

สเปน กู้คืนไฟฟ้ากลับเข้าระบบแล้ว 50% หลังไฟฟ้าดับวงกว้างกว่า 10 ชั่วโมง ด้านโปรตุเกสเจอรับผลกระทบไม่ต่างกัน จนต้องประชุมฉุกเฉิน 2 ประเทศ เร่งหาสาเหตุ-แก้ปัญหา ขณะที่ ยังไม่พบหลักฐานชี้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค

ไขคดีใหม่ “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ

นาครั้งใหม่ ของภาพยนตร์อะนิเมะสืบสวนสุดเดือด “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ 2” จาก ค่ายยักษ์ใหญ่ บริษัท เดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส) จำกัด

ลิเวอร์พูลแชมป์ลีก20สมัย ความยืดหยุ่นสู่ความสำเร็จ (ชมคลิป)

ลิเวอร์พูลแชมป์ลีก20สมัย ความยืดหยุ่นสู่ความสำเร็จ

TrustNEws Line