ปี 67 ทั่วโลกประหารชีวิต 1,518 คน ยกเลิกประหาร 113 ประเทศ คงไว้ 86 ประเทศ
by Trust News, 10 เมษายน 2568
แอมเนสตี้ฯ แพร่รายงาน ภาพรวมประหารโทษประหารชีวิตทั่วโลก ปี 67 พบที่มีการบันทึกไว้ 1,518 ราย อิหร่าน อิรัก ซาอุฯ คิดเป็น 91% ไม่รวมจีน ประเทศที่ยกเลิกประหาร 113 ส่วนประเทศที่ยังใช้อยู่ 86 ประเทศ
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้เผยแพร่ รายงานถึง โทษประหารชีวิตที่มีอยู่ทั่วโลก และภาพรวมการ “ยกเลิก” ประหารชีวิต มากกว่าที่เคยเกิดขึ้น โดยมีเนื้อหาระบุ ดังนี้
โทษประหารชีวิตในปี 2567: จำนวนการประหารชีวิตสูงที่สุดหลังปี 2558
• อิหร่าน อิรัก และซาอุดีอาระเบียมีจำนวนการประหารชีวิตคิดเป็น 91% ของการประหารชีวิตทั้งหมด
• รัฐใช้โทษประหารชีวิตเป็นอาวุธต่อผู้ประท้วงและกลุ่มชาติพันธุ์
• การประหารชีวิตในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
จำนวนการประหารชีวิตทั่วโลกสูงที่สุดนับตั้งแต่หลังปี 2558 โดยมีผู้ถูกประหารชีวิตมากกว่า 1,500 คนใน 15 ประเทศในปี 2567
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุในรายงานประจำปีเกี่ยวกับการใช้โทษประหารชีวิตทั่วโลก ใน “รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตใน ปี 2567” พบว่ามีการบันทึกการประหารชีวิต 1,518 ครั้งในปี 2567 ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดหลังปี 2558 (ที่มีการประหารชีวิตอย่างน้อย 1,634 ครั้ง) โดยส่วนใหญ่เกิดในภูมิภาคตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 ถือว่าเป็นปีที่สองติดต่อกันที่จำนวนประเทศที่ประหารชีวิตยังคงอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์
จำนวนที่บันทึกไว้ไม่รวมถึงผู้คนหลายพันคนที่เชื่อว่าถูกประหารชีวิตในจีน ซึ่งยังคงเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในโลก เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือและเวียดนาม ซึ่งเชื่อว่ามีการใช้โทษประหารชีวิตอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ วิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปาเลสไตน์และซีเรีย ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่สามารถยืนยันตัวเลขในพื้นที่และประเทศดังกล่าวได้

อิหร่าน อิรัก และซาอุดีอาระเบียเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของจำนวนการประหารชีวิต โดยทั้งสามประเทศรวมกันมีจำนวนการประหารชีวิตสูงถึง 1,380 ครั้ง อิรักมีจำนวนการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า (จากอย่างน้อย 16 ครั้งเป็นอย่างน้อย 63 ครั้ง) ขณะที่ซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า (จาก 172 ครั้งเป็นอย่างน้อย 345 ครั้ง) ส่วนอิหร่านประหารชีวิตมากกว่าปีก่อน 119 ครั้ง (จากอย่างน้อย 853 ครั้งเป็นอย่างน้อย 972 ครั้ง) ซึ่งคิดเป็น 64% ของจำนวนการประหารชีวิตที่ทราบทั้งหมด
แอกแนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า โทษประหารชีวิตเป็นวิธีการลงโทษที่น่ารังเกียจและไม่ควรมีอยู่ในโลกปัจจุบัน แม้ว่ายังมีความลับปกคลุมกระบวนการนี้ในบางประเทศที่เราคาดว่ามีการประหารชีวิตหลายพันครั้ง แต่เห็นได้ชัดว่าประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตนั้นโดดเดี่ยวมากขึ้น ด้วยจำนวน 15 ประเทศที่มีการประหารชีวิตในปี 2567 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นปีที่สอง นี่คือสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงจากการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
“อิหร่าน อิรัก และซาอุดีอาระเบียมีส่วนทำให้จำนวนการประหารชีวิตพุ่งสูงขึ้นอย่างมากเมื่อปีที่แล้ว โดยมีการประหารชีวิตเป็น 91% ของจำนวนการประหารชีวิตที่ทราบทั้งหมด ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและคร่าชีวิตผู้คนจากข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดและการก่อการร้าย”

5 ประเทศที่มีการประหารชีวิตสูงสุดในปี 2567 ได้แก่ จีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อิรัก และเยเมน
รัฐใช้โทษประหารชีวิตเป็นอาวุธ
ตลอดปี 2567 แอมเนสตี้ฯ พบว่าผู้นำบางประเทศใช้โทษประหารชีวิตเป็นอาวุธ โดยอ้างว่าเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน
ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของจำนวนการประหารชีวิตหลังการระบาดของโรคโควิด-19 มีการประหารชีวิต 25 ครั้ง (เทียบกับ 24 ครั้งในปี 2566) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้รับเลือกตั้งใหม่ในปี 2567 ได้กล่าวย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าโทษประหารชีวิตเป็นมาตรการปกป้องประชาชน จาก “พวกข่มขืน ฆาตกร และสัตว์ประหลาด” คำพูดที่ลดทอนความเป็นมนุษย์เช่นนี้ส่งเสริมความเข้าใจผิดว่าโทษประหารชีวิตมีผลในการยับยั้งอาชญากรรม
ในบางประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง โทษประหารชีวิตถูกใช้เพื่อปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้เห็นต่าง ผู้ชุมนุมประท้วง ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และชนกลุ่มน้อย
“ผู้ที่กล้าท้าทายอำนาจรัฐต้องเผชิญกับบทลงโทษที่โหดร้ายที่สุด โดยเฉพาะในอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งโทษประหารชีวิตถูกนำมาใช้เพื่อปิดปากผู้ที่กล้าลุกขึ้นมาพูด”

“ในปี 2567 อิหร่านยังคงใช้โทษประหารชีวิตในการลงโทษผู้ที่ท้าทายระบอบสาธารณรัฐอิสลามระหว่างการชุมนุมประท้วง “สตรี ชีวิต และเสรีภาพ” (Woman Life Freedom) โดยมีผู้ถูกประหารชีวิต 2 ราย รวมถึงเยาวชนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หลังจากถูกตัดสินคดีอย่างไม่เป็นธรรมและถูกทรมานเพื่อให้ได้มาซึ่งคำสารภาพ การกระทำดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่าทางการพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อกระชับอำนาจ”
ซาอุดีอาระเบียใช้โทษประหารชีวิตในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและชนกลุ่มน้อยชีอะห์ที่สนับสนุนการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลระหว่างปี 2554 ถึง 2556 ในเดือนสิงหาคม 2567 ทางการซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตอับดุลมาจีด อัล-นิมร์ ด้วยข้อหาเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับอัลกออิดะห์ แม้ว่าหลักฐานในศาลระบุเพียงแค่การเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงก็ตาม
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกประกาศความตั้งใจในการรื้อฟื้นการประหารชีวิต ในขณะที่กองทัพของบูร์กินาฟาโซประกาศว่าจะนำโทษประหารชีวิตมาใช้ในคดีอาญาทั่วไป
การเพิ่มขึ้นของจำนวนการประหารชีวิตในคดียาเสพติด
กว่า 40% ของการประหารชีวิตในปี 2567 ถูกดำเนินการอย่างมิชอบด้วยกฎหมายในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ภายใต้กฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การใช้โทษประหารชีวิตต้องถูกจำกัดไว้สำหรับ "ความผิดอาญาร้ายแรง" ซึ่งการตัดสินประหารชีวิตผู้คนในคดียาเสพติดไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์นี้
"การประหารชีวิตในคดียาเสพติดเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในจีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ และในเวียดนาม แม้ว่าจะไม่สามารถยืนยันได้ ในหลายบริบทพบว่าการตัดสินประหารชีวิตในคดียาเสพติดส่งผลกระทบอย่างไม่ได้สัดส่วนต่อผู้ที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาสทางสังคม ขณะเดียวกันก็ไม่มีหลักฐานว่าโทษประหารชีวิตช่วยลดการค้ายาเสพติดได้"
"ผู้นำที่สนับสนุนโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติดกำลังเสนอแนวทางที่ไร้ประสิทธิภาพและมิชอบด้วยกฎหมาย ประเทศที่กำลังพิจารณานำโทษประหารชีวิตมาใช้ในคดียาเสพติด เช่น มัลดีฟส์ ไนจีเรีย และตองกา ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกเรียกร้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลางของนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดของประเทศ"

พลังของการรณรงค์
แม้ว่าจำนวนการประหารชีวิตจะเพิ่มขึ้น แต่การประหารชีวิตเกิดขึ้นในเพียง 15 ประเทศเท่านั้น ซึ่งนับเป็นจำนวนน้อยที่สุดเป็นปีที่สองติดต่อกัน ในปัจจุบันมี 113 ประเทศแล้วที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท และรวมเป็นทั้งหมด 145 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว
ในปี 2567 ซิมบับเวลงนามบังคับใช้กฎหมายที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับคดีอาญาทั่วไป และเป็นครั้งแรกที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติมากกว่าสองในสามเห็นชอบกับข้อมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 10 เกี่ยวกับข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิต การปฏิรูปโทษประหารชีวิตในมาเลเซียยังนำไปสู่การลดจำนวนผู้ที่เสี่ยงต่อการถูกประหารชีวิตลงมากกว่า 1,000 ราย
นอกจากนี้ โลกยังได้เห็นพลังของการรณรงค์เพื่อยุติโทษประหารชีวิต ฮากามาดะ อิวาโอะ ซึ่งใช้ชีวิตเป็นนักโทษประหารชีวิตเกือบห้าทศวรรษในญี่ปุ่น ในเดือนกันยายน 2567 ศาลตัดสินให้เขาพ้นผิดในคดีฆาตกรรมหมู่ การรณรงค์เช่นนี้ยังคงดำเนินการต่อไป จนในเดือนมีนาคม 2568 ร็อกกี้ ไมเออร์ส ชายผิวดำที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในรัฐแอละแบมา แม้จะพบข้อบกพร่องร้ายแรงในกระบวนการพิจารณาคดีก็ตาม แต่จากการเรียกร้องของครอบครัว ทีมกฎหมาย คณะลูกขุนเดิม นักกิจกรรมในพื้นที่ และประชาคมระหว่างประเทศ ในที่สุดเขาได้รับการอภัยโทษ
You might be intertested in this news.
Mostview
โทโฮคุ ชินคันเซ็น E5 ฮายาบุสะ 60 ตัวจริง จากหนังดัง "Bullet Train Explosion"
จากหนังแอ็คชั่นญี่ปุ่น "Bullet Train Explosion : ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ" เรื่องราวชินคันเซ็น ขบวนฮายาบุสะ 6050B ถูกคนร้ายขู่วางระเบิด ห้ามรถวิ่งต่ำกว่า 100 กม./ชม. กับข้อมูลที่จะพาไปตามรอยเส้นทางรถไฟที่วิ่งเร็วสุดที่ 320 กม./ชม.จากชิน อาโอโมริตรงสู่โตเกียว
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม...
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น เมื่อสองพี่น้องต่างอุดมการณ์แตกต่างกัน จะขึ้นครองบัลลังก์อาณาจักรศรีสัชนาลัย สุโขทัย ...
ไฟฟ้าดับยุโรปคลี่คลาย สเปนกู้คืนได้ 50% โปรตุเกสไม่พบการโจมตีทางไซเบอร์
สเปน กู้คืนไฟฟ้ากลับเข้าระบบแล้ว 50% หลังไฟฟ้าดับวงกว้างกว่า 10 ชั่วโมง ด้านโปรตุเกสเจอรับผลกระทบไม่ต่างกัน จนต้องประชุมฉุกเฉิน 2 ประเทศ เร่งหาสาเหตุ-แก้ปัญหา ขณะที่ ยังไม่พบหลักฐานชี้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค
ไขคดีใหม่ “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ
นาครั้งใหม่ ของภาพยนตร์อะนิเมะสืบสวนสุดเดือด “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ 2” จาก ค่ายยักษ์ใหญ่ บริษัท เดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส) จำกัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
