วันศุกร์, พฤษภาคม 23, 2568

สศท.10 คาดผลผลิตมะพร้าวผลแก่ของ จ.ประจวบฯ ปี 68 รวมอยู่ที่ 252 ล้านผล

by Trust News, 23 พฤษภาคม 2568

สศท.10 เกาะติดสถานการณ์มะพร้าวผลแก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปีนี้ ผลผลิตรวม 252 ล้านผล แนะให้เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลง เฝ้าระวังโรคแมลงโดยเฉพาะหนอนหัวดำมะพร้าวและแมลงดำหนาม ที่อาจกัดกินทำให้มะพร้าวยืนต้นตายได้

นายกิจษารธ อ้นเงินทยากร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวผลแก่อันดับ 1 ของประเทศ โดยในปี 2568 (ข้อมูลพยากรณ์จาก สศก. ณ มีนาคม 2568) คาดการณ์ว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 360,580 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 361,180 ไร่ (ลดลง 600 ไร่ หรือร้อยละ 0.17) เนื้อที่ให้ผล 345,459 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 344,459 ไร่ (เพิ่มขึ้น 1,000 ไร่ หรือร้อยละ 0.29) ด้านปริมาณผลผลิต 252,530,529 ผล ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 254,210,742 ผล (ลดลง 1,680,213 ผล หรือร้อยละ 0.66)

ขณะที่ ผลผลิตมะพร้าวต่อไร่อยู่ที่ 731 ผล/ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 738 ผล/ไร่ (ลดลง 7 ผล/ไร่ หรือร้อยละ 0.95) ซึ่งเนื้อที่เพาะปลูกลดลงเนื่องจากภัยแล้งและโรคแมลงศัตรูพืช ส่วนเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรขยายเนื้อที่ปลูกมะพร้าวเมื่อ ปี 2562 แทนยางพาราและพื้นที่ปล่อยว่างเริ่มให้ผลผลิต ส่งผลให้ผลผลิตมะพร้าวมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ส่วนผลผลิตเฉลี่ยลดลงเล็กน้อย เนื่องจากสภาวะภัยแล้งและแมลงศัตรูพืชระบาด ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ มะพร้าวผลแก่เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นที่ต้องการในโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ค้า และผู้ประกอบการ สามารถสร้างมูลค่าให้จังหวัดกว่าปีละ 5,917 ล้านบาท


จากการติดตามของ สศท.10 พบว่า มะพร้าวผลแก่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะมีผลผลิตออกตลอดทั้งปี โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนเมษายน - กรกฎาคม จำนวน 104,320,362 ผล หรือ คิดเป็นร้อยละ 39 ของผลผลิตทั้งจังหวัด โดยราคามะพร้าวผลแก่ที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2568 แบ่งเป็น มะพร้าวผลแก่ขนาดใหญ่ ราคา 23.43 บาท/ผล มะพร้าวผลแก่ขนาดรอง ราคา 16.50 บาท/ผล และมะพร้าวผลแก่ขนาดเล็ก ราคา 10.83 บาท/ผล ราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีราคา 17.43 บาท/ผล 12.50 บาท/ผล และ 7.83 บาท/ผล ตามลำดับ ด้านสถานการณ์ตลาดมะพร้าวผลแก่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่า เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตส่วนใหญ่ให้กับผู้รวบรวมในพื้นที่/ล้ง โดยผ่านไปยังพ่อค้าคนกลางเข้าตลาดค้าปลึกเพื่อผลิตกะทิสด (หัวขูด) และผู้ทำเนื้อมะพร้าวขาวส่งต่อ ให้โรงงานผลิตกะทิสำเร็จรูป ร้อยละ 97 และร้อยละ 3 สำหรับบริโภคในพื้นที่


นอกจากนี้ จากการติดตามของ สศท.10 ยังพบว่า เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการรวมกลุ่ม แปลงใหญ่ เพื่อร่วมกันผลิตและจำหน่ายผลผลิตมะพร้าวผลแก่ คือ แปลงใหญ่มะพร้าวไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นกลุ่มต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ มีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ มีความชำนาญในการเพาะปลูก มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 310 ไร่ เกษตรกรสมาชิก 33 ราย ปริมาณผลผลิต 217,000 ผล/ปี ผลผลิตต่อไร่ 700 ผล/ไร่ ซึ่งแปลงใหญ่มะพร้าวไร่เก่ายังเป็นแหล่งเรียนรู้การป้องกันกำจัดศัตรูพืชมะพร้าว สามารถกำจัดศัตรูพืชได้อย่างเห็นผล เนื่องจากมักพบ การระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว

โดยเฉพาะหนอนหัวดำมะพร้าวและแมลงดำหนาม ซึ่งขยายพันธุ์และทำลายต้นมะพร้าว ได้อย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายรุนแรงจนต้นมะพร้าวยืนต้นตายได้ สมาชิกเกษตรกรจึงได้รับการส่งเสริมความรู้ แนะนำ ตั้งแต่การคัดเลือกตัวอ่อนแตนเบียน การให้อาหารตัวอ่อนแตนเบียน ระยะเวลาการเลี้ยงแตนเบียน ตลอดจนการปล่อยแตนเบียน ในสวนมะพร้าว แล้วนำกลับปรับใช้ในสวนตนเอง เป็นการลดต้นทุนการผลิตการใช้สารเคมี ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้น สุขภาพดีขึ้น และมีการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย GAP


"ในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัดและสภาวะภัยแล้ง พบข้อมูลการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว โดยเฉพาะหนอนหัวดำมะพร้าวและแมลงดำหนาม ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2568) พบข้อมูลการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวทั้งหมด 41,389.25 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 11.47 ของเนื้อที่มะพร้าวยืนต้น โดยขณะนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ลงพื้นที่ดำเนินการช่วยเหลือและสนับสนุนแมลงศัตรูมะพร้าวให้กับเกษตรกร ในพื้นที่ร้อยละ 50 และอยู่ระหว่างดำเนินการอีกร้อยละ 50 รวมทั้งได้ส่งเสริมและให้ความรู้ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว ได้แก่ แตนเบียนบราคอน แตนเบียนไข่ทริคโคแกรมมา แมลงหางหนีบสีดำหรือแมลงหางหนีบขาวงแหวน ตลอดจนการฉีดพ่นเชื้อบีทีสำหรับต้นมะพร้าวที่ไม่สูงมากโดยทีมบริการชุมชนทุกอำเภอ ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าว


ทั้งนี้ เกษตรกรควรมีการจัดการสวนมะพร้าวที่ดี ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวในระยะยาว โดยอาจ ใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น วิธีกล วิธีเขตกรรม ชีววิธี และวิธีอื่น ๆ ผสมผสานกัน เพื่อควบคุมจำนวนประชากรของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย รวมถึงให้มีการเฝ้าระวังในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงและพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากมะพร้าวราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้น หากพบเจอการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว ต้องแจ้งให้ทีมศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน หรือสำนักงานเกษตรอำเภอทราบในทันที.


You might be intertested in this news.

Mostview

จากเด็กเลี้ยงควาย สู่สายลับวัดไร่ขิง รู้จัก ร.ต.อ.นิติธร ประชันกาญจนา

จากเด็กเลี้ยงควาย สู่สายลับวัดไร่ขิง ร.ต.อ.นิติธร ประชันกาญจนา” เคยเป็นนักกีฬาแม่นปืนทีมชาติไทย เคยคลี่คลายคดีสำคัญๆ จนเคยได้รับฉายา “ตำรวจเหล็กแห่งกองปราบ”

ระเบิดนิวเคลียร์ B61-13 รุ่นล่าสุดของสหรัฐฯ ประกอบเสร็จออกจากโรงงานแล้ว

รมว.กระทรวงพลังงานของสหรัฐ และ NNSA ประกาศว่า ลูกระเบิดนิวเคลียร์ B61-13 รุ่นล่าสุด ประกอบเสร็จสิ้นและออกจากโรงงานที่เท็กซัสแล้ว เร็วกว่ากำหนดเกือบ 1 ปี หลังประกาศการพัฒนาเมื่อปี 2023 โดยเป็นแผนการปรับปรุงอาวุธนิวเคลียร์เก่าให้มีประสิทธิภาพ

ทอ.เตรียมแถลงจัดซื้อ กริพเพน E/F จากสวีเดนพร้อม Offset Policy ที่อาจมี Meteor

ทอ.ประชุมเตรียมงานแถลง "โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน" โดยมีรายงานว่า คือ กริพเพน รุ่น E/F จาก SAAB สวีเดน พร้อม Offset Policy แบบจัดเต็ม คาดจะมีอาวุธเด็ด BVRAAM แบบ Meteor มาให้ ทอ.ไทยด้วย

House of Dancing Water คืนเวที City of Dreams Macau

“House of Dancing Water” กลับมาเปิดการแสดงยิ่งใหญ่ ณ City of Dreams Macau ....

Final Destination Bloodlines กลับมาทวงความตายจากผู้หนีตาย!

Final Destination Bloodlines กลับมาทวงความตายจากผู้หนีตาย! ผลงานตอนใหม่จากแฟรนไชส์เลือดสาดที่สร้างความสำเร็จให้นิวไลน์ ซีเนม่า...

TrustNEws Line