ประมงเผย ปลากัด-ปลาสวยงามไทย ฉลุยในตลาดโลก ปี 67 ส่งออกแล้วกว่าพันล้าน
by Trust News, 14 กรกฎาคม 2568
อธิบดีกรมประมงเผย ปลาสวยงาม ปลากัดไทย ได้รับความนิยมทั่วโลก ปี 2567 ส่งออกกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่ จับมือไปรษณีย์ไทยทั่วไทย เตรียมส่งหาลูกค้าทั่วโลก ด้าน รมช.อัครา หนุนกรมประมงสนับสนุนเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทุกมิติ
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในปัจจุบันการเลี้ยงปลาสวยงาม เป็นงานอดิเรกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก มีการซื้อขายทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยจากสถิติ ของธนาคารโลกในปี 2567 มีมูลค่าการซื้อขายทั่วโลก ประมาณ 10,000 ล้านบาท ประเทศไทยเป็นประเทศ ผู้ส่งออกอันดับต้นๆของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่าพันล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 11 % โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกในการผลิตสัตว์น้ำสวยงามส่งออก เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม มีชนิดพันธุ์ที่หลากหลาย มีปัจจัยที่อำนวยต่อการเจริญเติบโต มีช่องทางการตลาดและการขนส่งที่สะดวก และเกษตรกรไทยมีความสามารถในการผลิต สัตว์น้ำสวยงามที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และพัฒนาสายพันธุ์ที่แปลกใหม่อยู่เสมอ สัตว์น้ำสวยงามของไทยจึงได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดโลก
สัตว์น้ำที่สำคัญในการส่งออก ได้แก่ ปลากัด

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2568 รัฐบาลได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดเอกลักษณ์ประจำชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกย่องให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ปัจจุบันปลากัดได้รับการพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงและปรับปรุงพันธ์จากกลุ่มผู้เพาะเลี้ยง จนเกิดรูปร่างลักษณะที่มีความหลากหลาย รวมทั้งสีสันที่สวยงามจนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก จนนำไปสู่ การค้าเชิงพาณิชย์ โดยประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกปลากัดประมาณ 400 ล้านบาท หรือราว 40% ของการส่งออกสัตว์น้ำทั้งหมด รองลงมา คือ ปลาทอง( 7.3%) ปลาหางนกยูงและปลาสอด ( 6.4%) กุ้งสวยงาม (5.8%) กลุ่มปลาหมอสีและปลาออสการ์ (3.9%) และปลาชนิดอื่นๆโดยเฉพาะปลาสวยงามพื้นเมืองของประเทศไทย เช่น ปลาก้างพระร่วง ปลาลูกผึ้ง ปลาซิวต่างๆ มีประเทศผู้นำเข้าสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา(20%) สหภาพยุโรป (13.2%) จีน (10%)

กรมประมงเล็งเห็นถึงมูลค่าการส่งออกที่จะกลับมาเป็นเม็ดเงินให้กับเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประกอบกับตลาดเดิมที่ยังมีส่วนแบ่งอีกมากให้ช่วงชิง และตลาดใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีความสำคัญ อย่างมากที่จะต้องเข้าไปถือครองส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่กำกับดูแลกรมประมง ที่มุ่งเน้นการสร้างอาชีพ สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพผลผลิตสัตว์น้ำ เพิ่มช่องทาง เพิ่มตลาดให้เกษตรกรไทย เพื่อสร้างรายได้สู่ครัวเรือนเกษตรกร ดังนั้น การเตรียมพร้อมเรื่องข้อกำหนดการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำสวยงามของประเทศผู้ค้า จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้สามารถผลิตและส่งออกได้ตามมาตรฐาน เงื่อนไข และข้อกำหนดของผู้ค้า รวมถึงการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด ทั้งความสวยงาม ความแปลกใหม่และมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อให้สินค้ามีความหลากหลาย สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

กรมประมงจึงได้พัฒนาแผนปฏิบัติการพัฒนาสัตว์น้ำสวยงาม พ.ศ. 2566 – 2570 โดยรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาหารือ จนได้ 4 ยุทธศาสตร์ 13 แนวทาง หรือ 13 แผนงาน ครอบคลุมตั้งแต่การวิจัยการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง การส่งเสริมการตลาด และการส่งออก ลดเงื่อนไขและข้อจำกัดในการพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ มีวิสัยทัศน์ คือ “เป็นผู้นำการผลิตและการค้าสัตว์น้ำสวยงามที่มีมาตรฐานเพื่อการส่งออกและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำสวยงามของไทยเพื่อการใช้ประโยชน์ อย่างยั่งยืน” เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายภายใต้วิสัยทัศน์และพันธกิจ จึงกำหนดยุทธศาสตร์ การพัฒนาประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำที่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานคุ้มค่ากับการลงทุน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การบริหารจัดการด้านระบบมาตรฐานและการจัดการฐานข้อมูล เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตของเกษตรกรผู้ผลิตสัตว์น้ำสวยงามให้ได้ปริมาณ มีคุณภาพและได้มาตรฐานที่ มีความยั่งยืนในอาชีพ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ และผู้ประกอบการ มีองค์ความรู้และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปปรับใช้ในการผลิตอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การขยายช่องทางการตลาดของสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำเพื่อให้เกษตรกร มีทางเลือกในเรื่องการตลาดและการเข้าถึงตลาดเพื่อนำไปสู่การปรับกระบวนการผลิตที่ตอบสนองกับความต้องการของตลาด

ที่สำคัญ กรมประมงยังมีการจัดงานประมงน้อมเกล้าฯ ขึ้นทุกปี โดยในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม 2568 เป็นครั้งที่ 35 ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต แอน สเปลล์ โดยภายในงานจะมีการประกวดปลาสวยงาม 7 ชนิด 76 ประเภท มากกว่า 3,000 ตู้ การประกวดในครั้งนี้ถือเป็นงานประกวดปลาสวยงามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือเพื่อส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงปลาสวยงามของไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของการค้าปลาสวยงามทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเปิดเวทีให้ผู้เพาะเลี้ยง นักสะสม และผู้ชื่นชอบปลาสวยงาม ได้พบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ และชื่นชมความงามของปลาสายพันธุ์ดี และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ในการเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำสวยงามของไทย

ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน 2568 ได้มีการจัดประกวดปลาแฟนซีคาร์ป เนื่องในงาน “วันประมงน้อมเกล้าฯ ครั้งที่ 35” The 19th TNPA All Thailand Koi Show 2025 ขึ้น ณ MCC Hall ชั้น 3 ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ โดยมีนายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เลขาธิการองค์กรระหว่างประเทศด้านการประมง ผู้บริหารห้างสรรพสินค้า The Mall Department Store แขกผู้มีเกียรติ กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงาม ตลอดจนพี่น้องประชาชน ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน ซึ่งถือว่ากาาจัดงานครั้งนี้ เป็นการพัฒนาวงการเพาะเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ปไปอีกระดับ เนื่องจากคณะกรรมการที่ตัดสินเป็นทีมงานจากประเทศญี่ปุ่น และยังได้รับความสนใจจากเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และทำให้ทั่วโลกเห็นว่าผู้เพาะเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ปพัฒนาไปสู่ระดับสากลแล้ว

นอกจากนี้ กรมประมงได้หาแนวร่วมในการขับเคลื่อนขยายช่องทางการขนส่งสัตว์น้ำ โดยดึงพันธมิตรอย่างไปรษณีย์ไทย ซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีความพร้อม เข้ามาร่วมผลักดันด้านการขนส่งสัตว์น้ำ ผ่านการทำบันทึกข้อตกลง โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2568 ได้มีการหารือล่าสุด เพื่อสรุปผลการทดสอบการขนส่งสัตว์น้ำมีชีวิตผ่านระบบขนส่งไปรษณีย์ไทย พร้อมทั้งร่วมกันพิจารณาเพิ่มชนิดสัตว์น้ำ ที่มีความสามารถในการดำเนินการขนส่งผ่านระบบไปรษณีย์ไทยเพิ่มเติมจากเดิมที่มี 7 ชนิด ได้แก่ ปลากัด ปลาสอด ปลาหางนกยูง กบ ปลาไหล กลุ่มหอยฝาเดียวและไข่หอย กลุ่มพรรณไม้น้ำ โดยจากผลการทดสอบฯ มีสัตว์น้ำมีชีวิตที่ผ่านการทดสอบเพิ่ม จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ สาหร่ายพวงองุ่น สาหร่ายผักกาดทะเล และเห็ดทะเล
กรมประมงจะดำเนินการเพิ่มรายชื่อชนิด/กลุ่มสัตว์น้ำลงในเอกสารแนบท้ายบันทึกข้อตกลง เพื่อให้เกษตรกรสามารถขนส่งสัตว์น้ำมีชีวิตดังกล่าวเพิ่มเติม ผ่านระบบไปรษณีย์ไทยได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2568 รวมทั้งหารือแนวทางการส่งออกสัตว์น้ำสวยงามไปต่างประเทศร่วมกับไปรษณีย์ไทย โดยพิจารณาขอบเขตความร่วมมือในการจัดทำบันทึกแนบท้ายข้อตกลงในการส่งออกสัตว์น้ำสวยงามไปต่างประเทศผ่านช่องทางไปรษณีย์ไทย เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้เพาะเลี้ยง ฟาร์ม ผู้ประกอบการ ที่ส่งออกปลากัดและปลาสวยงาม โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรทุกระดับสามารถดำเนินการส่งออกสัตว์น้ำไปยังต่างประเทศได้โดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อหวังให้เกิดการเรียนรู้ สร้างช่องทางในการแข่งขัน และเปิดทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น.
You might be intertested in this news.
Mostview
แรงกระแทก “สีกากอล์ฟ” นารีพิฆาตพระ กับขบวนการทำลายพุทธศาสนา มีจริงไหม..? (ชมคลิป)
ปกติแล้ว เมื่อพระเจอ “นารีพิฆาต” จะมาในรูปแบบบุคคลกับบุคคล แต่กรณี “สีกากอล์ฟ” นั้น กลับไม่ใช่ เรียกว่า ทำให้คณะสงฆ์สมณศักดิ์หลายรูป โดยเฉพาะชั้น "เทพ" ต้องสละผ้าเหลือง เพราะแบบนี้ จึงถูกตั้งคำถามว่า จะเกี่ยวข้องกับ "ขบวนการทำลายพุทธศาสนา" หรือไม่...
อะไรคืออุปสรรค ที่ แมนยูฯ ของ อเลฮานโดร การ์นาโช่ (ชมคลิป)
อะไรคืออุปสรรค ที่ แมนยูฯ ของ อเลฮานโดร การ์นาโช่ (ชมคลิป)
โคล พาลเมอร์ เรียนรู้ที่ แมนฯซิตี้ เพื่อไปประสบความสำเร็จกับเชลซี
โคล พาลเมอร์ เรียนรู้ที่ แมนฯซิตี้ เพื่อไปประสบความสำเร็จกับเชลซี
แนวโน้มราคาทองคําวันนี้ (16ก.ค.68) ทยอยซื้อสะสม
แนวโน้มราคาทองคําวันนี้ (16ก.ค.68) ทยอยซื้อสะสม
แนวโน้มตลาดวันนี้ (14ก.ค.68) ความกังวลภาษียังกดดัน
แนวโน้มตลาดวันนี้ (14ก.ค.68) ความกังวลภาษียังกดดัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
