6 เหตุผลที่ทำให้ กมลา แฮร์ริส พ่ายแพ้
by Trust News, 7 พฤศจิกายน 2567
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้แทนจากพรรครีพับลิกัน กำลังจะกลายเป็นคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ ต่อจาก อดีตประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ (Grover Cleveland) ที่สามารถก้าวเท้าเข้าสู่ประตูทำเนียบขาวในแบบ 2 วาระไม่ติดต่อกัน และกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47
หลังสามารถคว้าชัยชนะ (ยังไม่เป็นทางการ) เหนือ “นางกมลา แฮร์ริส” จากพรรคเดโมแครต ในแบบชนิดที่เรียกว่า “ง่ายดายเกินกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้”
โดยผลการนับคะแนนล่าสุดตามรายงานของสำนักข่าว CNN ณ เวลา 17.00 น. ตามเวลาประเทศไทย นั้น นายโดนัลด์ ทรัมป์ กวาดคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Votes) ได้มากถึง 295 เสียง ด้านคะแนน Poppular Votes ได้มากถึง 72,602,177 เสียง หรือ คิดเป็น 50.8%
ขณะที่ฝ่าย กมลา แฮร์ริส ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งไป 226 เสียง และคะแนน Poppular Votes ที่ 67,893,572 เสียง หรือ คิดเป็น 47.5%
ทั้งๆที่ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ซึ่ง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นฝ่ายเอาชนะ นายโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น ฝ่ายพรรคเดโมแครต สามารถกวาดคะแนน Electoral Votes ได้มากถึง 306 เสียง และได้คะแนน Poppular Votes
สูงถึง 81,284,666 เสียง
และไม่เพียงเท่านั้น พรรครีพับลิกัน ยังมีความเป็นไปได้สูงมากแล้วที่จะสามารถยึดได้ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา ได้อีกด้วย!
เพราะอะไร “กมลา แฮร์ริส” จึงพ่ายแพ้ให้กับ ชายชราอายุ 78 ปี?
และเพราะอะไรคะแนนเสียงจากผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตจึงหายไป?
วันนี้ “เรา” ลองไปสำรวจและวิเคราะห์ถึงความพ่ายแพ้แบบหมดรูปของพรรคเดโมแครต ต่อ “ชายที่ถูกตราหน้าจากพรรคเดโมแครตว่า เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย” ด้วยกัน
1. หลีกเลี่ยงแคมเปญ ผู้หญิงคนแรกที่จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ :
นักวิเคราะห์การเมืองในสหรัฐ ตั้งข้อสังเกตถึงแคมเปญหาเสียงของ “กมลา แฮร์ริส” ว่าเพราะเหตุใดจึงไม่พยายามชูประเด็นเรื่อง “ผู้หญิงคนแรกที่จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ” ขึ้นเป็นหนึ่งวาระหลักของการหาเสียงเลย
แต่กลับไปใช้วิธีพยายามกระตุ้นพลังหญิงให้มาลงคะแนนเสียง ด้วยประเด็นเรื่องสิทธิของผู้หญิงและคนผิวสีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เสรีภาพในการทำแท้ง หรือ การเพิ่มความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยแทน
ทั้งๆที่ ประเด็น “ผู้หญิงคนแรกที่จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ” น่าจะเป็นตัวเร่งเร้าให้กลุ่มสตรีในสหรัฐฯ ออกมาลงคะแนนได้มากขึ้นก็ตาม
ซึ่งประเด็นนี้ นักวิเคราะห์มองว่า “ถือเป็นเรื่องที่เสียโอกาสเป็นอย่างยิ่ง” เพราะในช่วงเปิดตัวเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครต แทน “คุณลุงโจ” นั้น เธอสามารถเรียกความคึกคักให้กลับคืนมาสู่พรรค จนสามารถระดมทุนหาเสียงได้มากมายถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน แถมยังได้รับการสนับสนุนจากเหล่าเซเลปสาวระดับ Mega Star อย่าง บียอนเซ และ เทย์เลอร์ สวิฟต์ อย่างแข็งแรงอีกด้วย!
2. นโยบายทำแท้งเสรี :
ความพยายามขับเคลื่อนนโยบายสิทธิในการทำแท้งเสรี ของ กมลา แฮร์ริส แม้อาจช่วยขับภาพลักษณ์ในการเชื่อมโยงกับ “เหล่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ในสหรัฐ” ที่คัดค้านคำพิพากษา ยกเลิกคำตัดสินคดี Roe V Wade ของศาลสูงสุดสหรัฐ ที่เป็นผลให้ “การทำแท้ง” ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ ได้ก็จริง
แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็ทำให้ กลุ่มพลังหญิงที่อยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม และเป็นคริสเตียนอย่างเข้มข้น ต้องหยุดคิดเรื่องการลงคะแนนเสียงให้กับเธอด้วยเช่นกัน
และอาจจะเป็นเพราะทั้ง 2 ปัจจัยนี้ “กลุ่มพลังหญิง” โดยเฉพาะกลุ่มที่โกรธแค้นต่อการยกเลิกคำตัดสินทำแท้งเสรี ซึ่ง กมลา แฮร์ริส หมายมั่นปั้นมือว่าจะออกมาแสดงพลังใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมืดฟ้ามัวดิน เพื่อลดแต้มต่อของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก เพศชายมากกว่า กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง
โดยอ้างอิงจากรายงานของ CNBC ระบุว่า กลุ่มเพศหญิงที่ออกมาใช้สิทธิ
เลือกตั้งสนับสนุน กมลา แฮร์ริส อยู่ที่ 54% หรือลดลง -3% เมื่อเปรียบเทียบกับการออกมาสนับสนุน “คุณลุงโจ” ในการเลือกตั้งปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 57%
ในขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กลับได้รับการสนับสนุนจาก “กลุ่มพลังหญิง” เพิ่มขึ้นถึง 44% หรือ +2% เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนที่ได้เพียง 42%
3. ปัญหาปากท้องจากเงินเฟ้อ :
ต้องยอมรับว่า “ปัญหาเศรษฐกิจ” ในช่วงการบริหารงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน สร้างบาดแผลที่ยากจะเยียวยาในใจของชาวอเมริกันมากพอสมควร
ด้วยเหตุนี้ การรับไม้ต่อของ “กมลา แฮร์ริส” จึงยากที่จะทำให้ชาวอเมริกันที่กำลังชอกช้ำจาก “เงินเฟ้อ” ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพของผู้คนส่วนใหญ่ เกิดความเชื่อมั่นได้ว่า เธอจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องได้
ดังจะเห็นได้จาก Exit Poll ที่จัดทำโดย Edison Research ระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่กังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก โหวตสนับสนุน นายโดนัลด์ ทรัมป์ สูงถึง 79% ในขณะที่ฝ่าย กมลา แฮร์ริส ได้ไปเพียง 20%
ซึ่งสอดคล้องกับ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 31% ที่ยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นประเด็นสำคัญมากที่สุดที่จะนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะลงคะแนนให้กับผู้สมัครคนไหน
4. อิสราเอล :
นโยบายสนับสนุนพันธมิตรอันแนบแน่นอย่างอิสราเอล ในการปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซา รวมถึง เลบานอน และอิหร่าน ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทำให้ ชาวอเมริกันเชื้อสายอาหรับและชาวมุสลิมในอเมริกา
ซึ่งเคยสนับสนุนเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อน เพื่อต่อต้าน
นโยบายกีดกันชาวมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐฯ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ต่างพากันปล่อยมือจาก กมลา แฮร์ริส อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในรัฐสมรภูมิที่เป็นตัวชี้ขาด อย่าง “รัฐมิชิแกน”
โดยอ้างอิงจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเชื้อสายอาหรับและชาวมุสลิม จำนวนมากในรัฐมิชิแกน ซึ่งเคยสนับสนุนให้ โจ ไบเดน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งก่อน
ต่างแสดงความผิดหวังอย่างรุนแรงต่อนโยบายสนับสนุนอิสราเอลอย่างแน่วแน่ของ “คุณลุงโจ” ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง พร้อมกับย้ำว่า พวกเขาจะลงคะแนนเสียงให้กับพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งครั้งนี้
5. สูญเสียแรงสนับสนุนจากชนชั้นแรงงาน :
พรรคเดโมแครต คือ พรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาสหภาพแรงงานต่างๆในสหรัฐฯ อย่างแนบแน่นและยาวนาน หากแต่ปัญหาเศรษฐกิจ อันเกิดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และ ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งกระทบต่อชนชั้นแรงงานโดยตรงและหนักหน่วงเกือบตลอดช่วงการบริหารประเทศของ โจ ไบเดน
ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกที่เป็นชนชั้นแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนผิวขาวที่ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย หันไปให้การสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ มากขึ้น
ดังจะเห็นได้จาก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กลุ่ม International Brotherhood of Teamsters ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานขนส่งที่ทรงอิทธิพลที่สุดกลุ่มหนึ่งของสหรัฐฯ เนื่องจากมีสมาชิกมากกว่า 1.3 ล้านคน และมีความสนิทแนบแน่นกับพรรคเดโมแครตมายาวนาน ได้สร้างความอับอายต่อสาธารณให้กับ กมลา แฮร์ริส เป็นอย่างมาก ด้วยการ “ปฏิเสธ” ที่จะให้การรับรองผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1996!
ด้วยเหตุผลที่ว่า...ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่ได้พยายามมากพอสำหรับการปกป้องบรรดาสมาชิกสหภาพแรงงาน
6. พายุเฮอริเคนเฮเลน
พายุเฮอริเคนเฮเลน ที่พัดเข้าถล่มรัฐนอร์ทแคโรไลนา อีกหนึ่งสมรภูมิเลือกตั้งชี้ขาด เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างและทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรอบ 50 ปี ได้สร้างบาดแผลทางการเมืองให้กับ กมลา แฮร์ริส มากพอสมควร เพราะนอกจากจะถูกวิพากวิจารณ์ว่า ให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างล่าช้าแล้ว
ยังถูกฝ่าย นายโดนัลด์ ทรัมป์ โจมตีอย่างหนักด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า มีการแอบใช้เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ไปจัดหาที่พักให้กับผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
ซึ่งข่าวลือนี้ได้แพร่สะพัดไปเป็นวงกว้างและยิ่งเป็นการทำให้ ข้อกังวลเรื่องปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งเป็นจุดอ่อนของ “คุณลุงโจ” กลายเป็นประเด็นร้อนที่บั่นทอนคะแนนเสียงของเดโมแครตในรัฐสำคัญนี้ไปโดยปริยาย
บทส่งท้าย :
เปรียบเทียบผลคะแนนใน 7 สมรภูมิการเลือกตั้งที่เป็นจุดชี้ขาดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2 ครั้งล่าสุด
(1.) รัฐแอริโซนา : คณะผู้เลือกตั้ง 11 เสียง
เลือกตั้ง 2024 : รีพับลิกัน
โดนัลด์ ทรัมป์ : 1,303,793 คะแนน (52.3%)
กมลา แฮร์ริส : 1,167,898 คะแนน (46.8%)
เลือกตั้ง 2020 : เดโมแครต
โดนัลด์ ทรัมป์ : 1,661,686 คะแนน (49%)
โจ ไบเดน : 1,672,143 คะแนน (49.4%)
(2.) รัฐจอร์เจีย : คณะผู้เลือกตั้ง 16 เสียง
เลือกตั้ง 2024 : รีพับลิกัน
โดนัลด์ ทรัมป์ : 2,654,306 คะแนน (50.7%)
กมลา แฮร์ริส : 2,538,986 (48.5%)
เลือกตั้ง 2020 : เดโมแครต
โดนัลด์ ทรัมป์ : 2,461,854 คะแนน (49.2%)
โจ ไบเดน : 2,473,633 คะแนน (49.5%)
(3.) รัฐมิชิแกน : คณะผู้เลือกตั้ง 15 เสียง
เลือกตั้ง 2024 : รีพับลิกัน
โดนัลด์ ทรัมป์ : 2,799,713 คะแนน (49.8%)
กมลา แฮร์ริส : 2,715,684 (48.3%)
เลือกตั้ง 2020 : เดโมแครต
โดนัลด์ ทรัมป์ : 2,649,852 คะแนน (47.8%)
โจ ไบเดน : 2,804,040 คะแนน (50.6%)
(4.) รัฐเนวาดา : คณะผู้เลือกตั้ง 6 เสียง
เลือกตั้ง 2024 : รีพับลิกัน
โดนัลด์ ทรัมป์ : 698,169 คะแนน (50.9%)
กมลา แฮร์ริส : 647,274 คะแนน (47.2%)
เลือกตั้ง 2020 : เดโมแครต
โดนัลด์ ทรัมป์ : 669,890 คะแนน (47.7%)
โจ ไบเดน : 703,486 คะแนน (50.1%)
(5.) รัฐนอร์ทแคโรไลนา : 16 เสียง
เลือกตั้ง 2024 : รีพับลิกัน
โดนัลด์ ทรัมป์ : 2,876,141 คะแนน (51%)
กมลา แฮร์ริส : 2,685,451 (47.7%)
เลือกตั้ง 2020 : รีพับลิกัน
โดนัลด์ ทรัมป์ : 2,758,775 คะแนน (49.9%)
โจ ไบเดน : 2,684,292 คะแนน (48.6%)
(6.) รัฐเพนซิลวาเนีย : 19 เสียง
เลือกตั้ง 2024 : รีพับลิกัน
โดนัลด์ ทรัมป์ : 3,473,325 คะแนน (50.4%)
กมลา แฮร์ริส : 3,339,559 (48.5%)
เลือกตั้ง 2022 : เดโมแครต
โดนัลด์ ทรัมป์ : 3,459,923 คะแนน (48.8%)
โจ ไบเดน : 3,459,923 คะแนน (50%)
(7.) รัฐวิสคอนซิน : 10 เสียง
เลือกตั้ง 2024 : รีพับลิกัน
โดนัลด์ ทรัมป์ : 1,697,237 คะแนน (49.6%)
กมลา แฮร์ริส : 1,668,757 (48.8%)
เลือกตั้ง 2022 : เดโมแครต
โดนัลด์ ทรัมป์ : 1,610,184 คะแนน (48.8%)
โจ ไบเดน : 1,630,866 คะแนน (49.4%)

You might be intertested in this news.
Mostview
โทโฮคุ ชินคันเซ็น E5 ฮายาบุสะ 60 ตัวจริง จากหนังดัง "Bullet Train Explosion"
จากหนังแอ็คชั่นญี่ปุ่น "Bullet Train Explosion : ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ" เรื่องราวชินคันเซ็น ขบวนฮายาบุสะ 6050B ถูกคนร้ายขู่วางระเบิด ห้ามรถวิ่งต่ำกว่า 100 กม./ชม. กับข้อมูลที่จะพาไปตามรอยเส้นทางรถไฟที่วิ่งเร็วสุดที่ 320 กม./ชม.จากชิน อาโอโมริตรงสู่โตเกียว
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม...
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น เมื่อสองพี่น้องต่างอุดมการณ์แตกต่างกัน จะขึ้นครองบัลลังก์อาณาจักรศรีสัชนาลัย สุโขทัย ...
ไฟฟ้าดับยุโรปคลี่คลาย สเปนกู้คืนได้ 50% โปรตุเกสไม่พบการโจมตีทางไซเบอร์
สเปน กู้คืนไฟฟ้ากลับเข้าระบบแล้ว 50% หลังไฟฟ้าดับวงกว้างกว่า 10 ชั่วโมง ด้านโปรตุเกสเจอรับผลกระทบไม่ต่างกัน จนต้องประชุมฉุกเฉิน 2 ประเทศ เร่งหาสาเหตุ-แก้ปัญหา ขณะที่ ยังไม่พบหลักฐานชี้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค
ไขคดีใหม่ “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ
นาครั้งใหม่ ของภาพยนตร์อะนิเมะสืบสวนสุดเดือด “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ 2” จาก ค่ายยักษ์ใหญ่ บริษัท เดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส) จำกัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
