วันศุกร์, พฤษภาคม 2, 2568

เทคโนโลยีปลูกมะพร้าวน้ำหอมบนพื้นที่ดินเค็ม ได้ผลผลิตคุณภาพดี รสหอมหวาน

by Trust News, 27 มีนาคม 2568

กรมวิชาการเกษตร ปลื้มเทคโนโลยีปลูกมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่ดินเค็ม โดยทดลองใช้พันธุ์ก้นจีบ จากนย์วิจัยพืชสวนชุมพร พบว่าให้ผลผลิตคุณภาพรสชาติหอมหวาน ทำให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มมาปลูกพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ได้

กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินโครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเริ่มดำเนินงาน มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 เพื่อเผยแพร่หลักการทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ และเป็น ศูนย์ต้นแบบเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป โดยพื้นที่ดำเนินโครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริฯ นี้ เริ่มต้นจากพื้นที่ประสบปัญหาดินเค็มทั้งหมดจำนวน 14 ไร่ ระดับความเค็มของดินในพื้นที่อยู่ในช่วง “เค็มน้อยถึงเค็มมาก”

โดยปัญหาดินเค็มส่งผลกระทบต่อ การเพาะปลูกพืชทั่วไปอย่างรุนแรง และการแก้ไขปัญหาดินเค็มยังต้องใช้ต้นทุนสูง อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาดินเค็มสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีการหนึ่งที่ไม่ยุ่งยากและลงทุนต่ำ คือ การปลูกพืชทนเค็มจัด หรือ พืชชอบเกลือที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดินเค็มให้เกิดศักยภาพในการผลิตพืชได้อีกด้วย

นายขจรวิทย์ พันธุ์ยางน้อย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานีกล่าวว่า เนื่องจากความเค็มของดินทำให้ไม่สามารถปลูกพืชทั่วไปได้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง จึงได้คัดเลือกพืชที่เหมาะสมกับดินเค็ม จากการศึกษาพบว่า มะพร้าวน้ำหอม เป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีในพื้นที่ดินเค็ม จึงได้นำพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม “ก้นจีบ” จากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรมาทดลองปลูกในพื้นที่โครงการศูนย์เรียนรู้ฯ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมไม่เพียงสามารถตอบสนองต่อดินเค็มได้ดี แต่ยังให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ รสชาติหอมหวานกว่าการปลูกในพื้นที่ปกติ วัดค่าความหวานได้เฉลี่ย 7.5-9 องศาบริกซ์

ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต่อว่า สาเหตุอาจมาจากพืชที่ทนเค็ม จะหลีกเลี่ยงการดึงโซเดียมไปใช้ ทำให้ดึงโพแทสเซียมไปใช้ได้มากขึ้น โดยประโยชน์ของโพแทสเซียม จะช่วยสังเคราะห์น้ำตาล แป้ง และโปรตีน ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายของน้ำตาลจากใบไปยังผล ในขณะที่บางพื้นที่มีการปลูกมะพร้าวน้ำหอม เกษตรกรจะโรยเกลือบริเวณรอบ ๆ โคนต้นเพื่อเพิ่มความหวาน อีกทั้งในเทคโนโลยีการผลิตมะพร้าวน้ำหอม ของกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใส่ปุ๋ย 13-13-21 ร่วมกับ แมกนีเซียมซัลเฟต จะเห็นว่าการผลิตมะพร้าวน้ำหอมนั้นเกลือมีส่วนสำคัญอย่างมาก ซึ่งในลักษณะของพื้นที่ดินเค็มอาจไม่จำเป็นต้องโรยเกลือ หรือใส่แมกนีเซียมซัลเฟต เนื่องจากในลักษณะดินเค็ม จะมีแมกนีเซียมอยู่ในรูปของซัลเฟตเป็นองค์ประกอบอยู่แล้ว

นายขจรวิทย์  กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง ได้ศึกษาวิจัยการจัดการปุ๋ยที่เหมาะสมกับการผลิตมะพร้าวน้ำหอมระยะก่อนให้ผลผลิต และระยะให้ผลผลิตในดินเค็มน้อย-ปานกลาง โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร พบว่าการใส่ปุ๋ยมะพร้าวน้ำหอมตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรร่วมกับแมกนีเซียมซัลเฟต ให้ผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิต เช่น ลักษณะเนื้อความหวาน ขนาดผล ไม่แตกต่างจากการไม่ใส่แมกนีเซียมซัลเฟต ดังนั้นการจัดการปุ๋ยมะพร้าวในพื้นที่ดินเค็มที่เหมาะสม คือ การใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำกรมวิชาการเกษตร แต่ไม่ใส่แมกนีเซียมซัลเฟตก็ได้ อีกทั้งในระหว่างดำเนินการทดลอง ได้เพิ่มเติมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการศัตรูมะพร้าวน้ำหอมแบบผสมผสาน คือ หนอนหัวดำมะพร้าว โดยการใช้ชีวภัณฑ์บีทีร่วมกับสารเคมี พบว่าสามารถป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวน้ำหอมได้

สำหรับแนวทาง การใส่ปุ๋ยสำหรับมะพร้าวน้ำหอม เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร คือ ปีที่ 1 ช่วง 4 เดือนแรกหลังปลูก: เริ่มให้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยสูตรเดียวกันในอัตราเดิม ช่วงปลายฤดูฝน ปีที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น/ปี เพิ่มโดโลไมท์ อัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น/ปี แบ่งใส่ปุ๋ยเป็น 2 ครั้งต่อปี ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน ปีที่ 3 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 3 กิโลกรัม/ต้น/ปี เพิ่มโดโลไมท์ อัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น/ปี แบ่งใส่ปุ๋ยเป็น 2 ครั้ง/ปี

ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน ปีที่ 4 ขึ้นไป ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 4 กิโลกรัม/ต้น/ปี ใช้ โดโลไมท์ อัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น/ปี แบ่งใส่ปุ๋ยเป็น 2 ครั้ง/ปี ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน วิธีการใส่ปุ๋ยให้หว่านปุ๋ย รอบบริเวณทรงพุ่มของต้นมะพร้าวพรวนดินตื้น ๆ เพื่อช่วยให้ปุ๋ยซึมลงในดิน กลบปุ๋ยให้ทั่วบริเวณทรงพุ่ม

"โครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ จังหวัดนครราชสีมา ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชที่มีศักยภาพสูงในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหา
ในพื้นที่ดินเค็ม หากเกษตรกรประสบปัญหาการปลูกพืชในพื้นที่ดินเค็มสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ 0-4437-9390" นายขจรวิทย์ กล่าว.

 


You might be intertested in this news.

Mostview

โทโฮคุ ชินคันเซ็น E5 ฮายาบุสะ 60 ตัวจริง จากหนังดัง "Bullet Train Explosion"

จากหนังแอ็คชั่นญี่ปุ่น "Bullet Train Explosion : ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ" เรื่องราวชินคันเซ็น ขบวนฮายาบุสะ 6050B ถูกคนร้ายขู่วางระเบิด ห้ามรถวิ่งต่ำกว่า 100 กม./ชม. กับข้อมูลที่จะพาไปตามรอยเส้นทางรถไฟที่วิ่งเร็วสุดที่ 320 กม./ชม.จากชิน อาโอโมริตรงสู่โตเกียว

แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม

แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม...

เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น

เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น เมื่อสองพี่น้องต่างอุดมการณ์แตกต่างกัน จะขึ้นครองบัลลังก์อาณาจักรศรีสัชนาลัย สุโขทัย ...

ไฟฟ้าดับยุโรปคลี่คลาย สเปนกู้คืนได้ 50% โปรตุเกสไม่พบการโจมตีทางไซเบอร์

สเปน กู้คืนไฟฟ้ากลับเข้าระบบแล้ว 50% หลังไฟฟ้าดับวงกว้างกว่า 10 ชั่วโมง ด้านโปรตุเกสเจอรับผลกระทบไม่ต่างกัน จนต้องประชุมฉุกเฉิน 2 ประเทศ เร่งหาสาเหตุ-แก้ปัญหา ขณะที่ ยังไม่พบหลักฐานชี้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค

ไขคดีใหม่ “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ

นาครั้งใหม่ ของภาพยนตร์อะนิเมะสืบสวนสุดเดือด “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ 2” จาก ค่ายยักษ์ใหญ่ บริษัท เดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส) จำกัด

TrustNEws Line