แอร์บัส หวังไทยพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเชื้อเพลิง SAF รองรับธุรกิจการบินในอนาคต
by Trust News, 22 เมษายน 2568
แอร์บัส คาดไทยมีศักยภาพผลิตเชื้อเพลิง SAF ได้กว่า 5 ล้านตันต่อปี เท่ากับเชื้อเพลิงเครื่องบินรวมในไทยเมื่อปี 62 โดยการพัฒนาอุตสาหกรรม SAF ในขนาดใหญ่ จะช่วยด้านความมั่นคงทางพลังงาน ผลิตส่งออก และสนับสนุนให้เกษตรกรลดการเผาที่สร้างมลพิษ
จูลี่ คิทเชอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน บริษัทแอร์บัส กล่าวว่า การบิน คือ พลังขับเคลื่อนที่สำคัญของโลกอุตสาหกรรม ขับเคลื่อน 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าทั่วโลก และสนับสนุนการจ้างงานกว่า 86.5 ล้านตำแหน่งทั่วโลก อีกทั้งเชื่อมโยงผู้คนจากหลากหลายพรมแดนและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน โดยเมื่อปีที่ผ่านมามีผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกมากถึง 5 พันล้านคน เฉพาะในประเทศไทย อุตสาหกรรมการบินมีการจ้างงานถึงราวๆ 133,500 คน และก่อนช่วงยุคโควิด-19 ระบาด อุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนมากกว่า 7% ของ GDP ประเทศ
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย มากกว่า 80% เดินทางมาโดยทางอากาศ สำหรับการเดินทางในระยะทางที่ห่างไกล ซึ่งมักจะต้องเดินทางข้ามทวีปและมหาสมุทร หลายครั้งการเดินทางทางอากาศจึงเป็นทางเดียวที่มีความเป็นไปได้ และเหมาะสมที่สุดในภูมิภาคนี้ ดังนั้น การบินมีความสำคัญต่อชุมชนและผู้คนในภูมิภาคนี้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการลดการปล่อยคาร์บอนจากการบินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราส่งต่อการเดินทางทางอากาศที่เปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้กับคนรุ่นต่อไปได้ เหมือนที่เรากำลังทำในปี 2568 ที่อุตสาหกรรมอากาศยานยังคงเป็นพลังเชิงบวกในวันนี้ โดยมั่นใจได้ว่าจะไม่สร้างภาระให้กับคนรุ่นหลัง

ภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศแปรปรวนคือตัวเร่ง
ปี 2567 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลก และยังเป็นปีแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกทั้งปีสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเพดานระดับอุณหภูมิที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส บางส่วนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้กำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนแล้ว
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน บริษัทแอร์บัส กล่าวว่า ช่วงนี้มักจะถูกถามอยู่บ่อยครั้งว่า แอร์บัสจะลดความมุ่งมั่นที่มีต่อเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนลงหรือไม่ โดยคำถามนี้เกิดจากการที่หลายรัฐบาลและหลายบริษัทดูเหมือนจะเปลี่ยนทิศทางในด้านนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ส่วนตัวขอยืนยันว่า แอร์บัสจะไม่ละทิ้งพันธกิจด้านความยั่งยืนแน่นอน และจะเดินหน้าอย่างมั่นคงเช่นเดิม ความมุ่งมั่นของแอร์บัส ในเรืองความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ สำหรับเป้าหมายที่จะการบุกเบิกอุตสาหกรรมการบินและอวกาศที่ยั่งยืน เพื่อโลกที่ปลอดภัยและเป็นหนึ่งเดียวกัน
เราทราบดีว่าการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในอุตสาหกรรมนี้ เป็นเรื่องที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เรายังไม่มีคำตอบทั้งหมดสำหรับทุกคำถาม และเราไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้เพียงลำพัง ทำให้จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ส่วนตัวจึงรู้สึกยินดีมากที่ได้เห็นว่า พันธมิตรของเราในไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก็มีความเชื่อมั่นเช่นเดียวกันกับแอร์บัส ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศของอาเซียน ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินของภูมิภาคนี้

การเดินหน้าลดการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมอากาศยาน
การใช้เครื่องบินที่มีประสิทธิภาพ ในการประหยัดเชื้อเพลิง การปรับปรุงการจัดการการจราจรทางอากาศ และการดำเนินงาน และ เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels : SAF) จะร่วมกันช่วยลดการปล่อยคาร์บอนส่วนใหญ่ก่อนจะถึงปี 2593 อย่างไรก็ตาม จะยังคงมีการปล่อยคาร์บอนที่เรียกว่า “การปล่อยคาร์บอนส่วนที่เหลือ” (Residual Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 วิธีการกำจัดคาร์บอน (Carbon Removal) จึงเข้ามามีบทบาทจัดการส่วนที่เหลือนี้ มีวิธีธรรมชาติในการกำจัดคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกป่า ประเทศไทยไม่เพียงแต่ได้ให้คำมั่นที่จะหยุดการตัดไม้ทำลายป่า แต่ยังส่งเสริมการปลูกป่าขึ้นใหม่ เพื่อทดแทนเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างเครดิตคาร์บอน
นวัตกรรมทางเทคโนโลยียังมีวิธีอื่นในการกำจัดคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ เช่น เทคโนโลยี Direct Air Capture ซึ่งสามารถดักจับก๊าซ CO2 ได้โดยตรงจากชั้นบรรยากาศและกักเก็บไว้ใต้ดินได้อย่างปลอดภัย ขณะที่แผนระยะยาวช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้ ไฮโดรเจนจะเข้ามามีบทบาทร่วมกับ SAF ในการเป็นเชื้อเพลิงการบินคาร์บอนต่ำสำหรับอนาคต
เครื่องบินยุคใหม่นี้ ต้องลดปล่อยคาร์บอน เป็นมิตรต่อโลก
การเน้นที่ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อความสามารถการแข่งขันของธุรกิจ ด้วยเหตุผลที่เรียบง่ายว่า เครื่องบินที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นทำให้สายการบินต่าง ๆ ซึ่งก็คือลูกค้าของเรา มีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น สายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นกำลังทดแทนเครื่องบินเก่า ด้วยเครื่องบินรุ่นใหม่เหล่านี้ เราได้กำลังวางรากฐานหรือวาง ‘ก้อนอิฐ’ ก้อนแรกในทางด้านเทคโนโลยี เพื่อสร้างเครื่องบินอากาศยานแห่งอนาคต

ขณะนี้ วิศวกรของเราได้กำลังวางรากฐานทางเทคโนโลยีสำหรับเครื่องบินทางเดินเดียวรุ่นใหม่ ที่เราคาดว่าจะเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2570 เราเชื่อว่าเครื่องบินรุ่นใหม่นี้จะมาพร้อมกับปีกที่ออกแบบใหม่ตามหลักอากาศพลศาสตร์ ให้ยาวขึ้น บางลง และเบากว่าในทุกรุ่นที่มีมา เพื่อให้บินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาจจะมาพร้อมกับเครื่องยนต์ที่เรียกว่า “open fan” ซึ่งสามารถมองเห็นใบพัดที่หมุนอยู่ได้ชัดเจน ต่างจากเครื่องบินในปัจจุบันที่ใบพัดเหล่านี้จะถูกหุ้มไว้ภายในโครงครอบของเครื่องยนต์ แอร์บัสกำลังทำงานร่วมกับ CFM ผู้ผลิตเครื่องยนต์ที่เป็นพันธมิตรของเรา เพื่อทดสอบเทคโนโลยีเครื่องยนต์ใหม่นี้บนเครื่องบินต้นแบบภายในช่วงปลายทศวรรษ 2570 นี้
เครื่องบินทางเดินเดี่ยวรุ่นใหม่นี้จะสามารถใช้เชื้อเพลิง SAF เพียงอย่างเดียวในการขับเคลื่อนได้ด้วย และนั่นจะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงและลดการปล่อยมลพิษ โดยมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องบินรุ่นที่ล้ำหน้าที่สุดในปัจจุบันถึง 20-30%
"ไฮโดรเจน" พลังงานแห่งอนาคต
แอร์บัส เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า อากาศยานที่ใช้เชื้อเพลิงฮโดรเจน จะเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการลดคาร์บอนภาคการบินในอนาคต "ไฮโดรเจน" ถือเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพสูงที่สุดในการขับเคลื่อนเครื่องบินแบบปล่อยมลพิษต่ำ เพราะหากผลิตจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว ไฮโดรเจนจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเลย เมื่อไม่นานมานี้ เราได้เลื่อนแผนการเปิดตัวเครื่องบินที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนลำแรกออกไปจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ในปี พ.ศ. 2578 โดยเราได้เริ่มต้นโครงการนี้ในปี พ.ศ. 2563 และเมื่อมองย้อนกลับไป เราอาจประเมินสถานการณ์ในแง่ดีเกินไปและเชื่อว่าจะทำให้เครื่องบินแบบนี้เกิดขึ้นได้ทันในปี พ.ศ. 2578

ความท้าทายสำคัญในขณะนี้ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตและการกระจายไฮโดรเจนในระดับโลกยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าโครงการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ระหว่างการพัฒนาในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่ก็ยังคงเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายหลายประการ ดังนั้นปริมาณไฮโดรเจนอาจยังมีไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานจริงในปี 2578 ได้
ตั้งแต่ปี 2563 แอร์บัสได้เรียนรู้หลายบทเรียนสำคัญ ทีมงานของเราได้พัฒนาความรู้แบบเจาะลึกและความเข้าใจในเทคโนโลยีไฮโดรเจน อันที่จริงแล้ว ตอนนี้เราพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการตามแผนการสร้างเครื่องบินรุ่นนี้แล้ว โดยเราได้แก้ไขปัญหาที่อาจจะเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในขั้นเริ่มต้นของการพัฒนาเครื่องบินชนิดนี้ ซึ่งก็คือการเลือกเทคโนโลยีที่จะใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องบิน หลังจากที่สำรวจตัวเลือกหลาย ๆ แบบ เราได้เลือกระบบขับเคลื่อนด้วยใบพัดที่ใช้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงไฟฟ้า และขอให้มั่นใจได้ว่า งานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนของเราจะยังคงดำเนินต่อไป

ดังนั้น เครื่องบินรุ่นใหม่ของแอร์บัสที่มีอยู่ในปัจจุบัน กำลังก่อให้เกิดความก้าวหน้าครั้งสำคัญในด้านประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง เครื่องบินในอนาคตในช่วงปลายทศวรรษ หรือ ปี 2573 จะเป็นเครื่องบินทางเดินเดี่ยวที่มีประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงสูงรุ่นใหม่ และเครื่องบินในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นเครื่องบินโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน นี่คือการคาดการณ์วิวัฒนาการของฝูงบินในอนาคตของเรา
SAF มันคือเชื้อเพลิงแบบใด
เชื้อเพลิง SAF คือ อะไรหลายคนอาจจะยังสงสัย พูดกันแต่ SAF จริงๆ แล้วมัน คือ เชื้อเพลิงอากาศยานที่มีการผสมระหว่างเชื้อเพลิงเครื่องบิน และ น้ำมันพืชที่ทิ้งแล้ว เช่น น้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว และเศษชีวมวลต่าง ๆ เช่น เศษซากจากพืชผลทางการเกษตร ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร สิ่งสำคัญ คือ เชื้อเพลิงเหล่านี้จะต้องได้รับการรับรองว่ามีความยั่งยืนโดย CORSIA ซึ่งเป็นโครงการชดเชยคาร์บอนในระดับนานาชาติ

เชื้อเพลิง SAF สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้โดยเฉลี่ย 80% ตลอดวงจรชีวิตของเชื้อเพลิง นับตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการใช้งาน ปัจจุบัน SAF สามารถใช้ขับเคลื่อนเครื่องบินแอร์บัสได้โดยผสมกับน้ำมันก๊าดในสัดส่วน 50% เรากำลังดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องบินของเราจะสามารถบินด้วย SAF ได้สูงสุดถึง 100% ภายในปี 2573 ปัจจุบัน SAF ยังคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของเชื้อเพลิงการบินที่ใช้ทั่วโลก หากต้องการก้าวไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 เราจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวให้ได้อย่างน้อย 6% ภายในปี 2573 และสูงถึง 20% ภายในปี 2578
SAF ในประเทศไทย
ประเทศไทยมีภาคพลังงานที่ประสบความสำเร็จและมีความมั่นคง ครอบคลุมทั้งพลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ด้วยภาคเกษตรกรรมที่แข็งแกร่งประเทศไทยจึงมีศักยภาพอย่างยิ่งในการเป็นผู้ผลิต SAF โดยสามารถใช้วัตถุดิบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกากน้ำตาล เศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว แกลบ ซังและใบข้าวโพด ตลอดจนมูลสัตว์ ขณะนี้ได้มีโครงการหลายแห่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อผลิต SAF จากน้ำมันพืชใช้แล้ว ตัวอย่างเช่นโครงการที่ทางบางจากได้ประกาศไว้ และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล ได้เริ่มการเริ่มต้นการผลิต SAF โดยกระบวนการกลั่นร่วม
หากมองไปในอนาคต เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงอากาศจากแอลกอฮอล์ หรือ เอทานอล (Alcohol-to-Jet Fuel) ก็นับว่ามีศักยภาพสูงในประเทศไทยเช่นกัน ยุทธศาสตร์ในการเพิ่มจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าบนถนนในประเทศไทย จะช่วยลดความต้องการใช้เอทานอลในภาคการขนส่งทางถนน ซึ่งทำให้มีเอทานอลส่วนเกินมาใช้สำหรับ SAF มากขึ้น

น่ายินดีที่ได้เห็นอุตสาหกรรมเอทานอลของประเทศไทย พิจารณาถึงการผลิต SAF ยิ่งไปกว่านั้น การได้เห็นแนวทางความร่วมมือในอุตสาหกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างมาก เพราะแนวคิดลักษณะนี้จะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment) สำหรับวัตถุดิบใหม่ ๆ ทางแอร์บัสมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้ทำงานร่วมกับทางรัฐบาลและผู้ผลิต SAF ในประเทศไทย เพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมนี้อย่างยั่งยืน
ความท้าทายของไทย ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง SAF
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีความท้าทายที่สำคัญ 2 ประการ ประการแรก คือการสนับสนุนเทคโนโลยี SAF ใหม่ๆ ให้สามารถก้าวผ่านช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาไปได้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดทั้งในด้านเทคโนโลยีและด้านการลงทุน แอร์บัสยังคงมุ่งมั่นในการสนับสนุนโครงการ SAF ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่ผ่านมา เราได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อร่วมกันศึกษาศักยภาพในการผลิต SAF จากเศษวัสดุของเหลือทางการเกษตร และเราก็พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการผลักดันให้วัตถุดิบชนิดอื่น ๆ สามารถนำมาใช้ในการผลิต SAF ในประเทศไทยเช่นกัน
เรื่องนี้นำไปสู่ความท้าทายประการที่สองของอุตสาหกรรม SAF ในประเทศไทย นั่นคือ การศึกษาทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับวัตถุดิบหลากหลายประเภทที่มีอยู่ในประเทศ ทั้งในแง่ปริมาณ คุณภาพ และความยั่งยืนในระยะยาว เราทุกคนคงเคยได้ยินตัวเลขซึ่งแสดงถึงศักยภาพของ SAF มาแล้วมากมาย สิ่งที่แอร์บัสได้เรียนรู้คือ การเข้าใจเพียงด้านศักยภาพในการผลิตของวัตถุดิบแต่ละประเภทนั้นยังไม่เพียงพอ เรายังจำเป็นต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของวัตถุดิบ ความสามารถในการจัดหา รวมไปถึงต้นทุนในการจัดเก็บและขนส่งด้วย ประเทศไทยได้เริ่มต้นก้าวสำคัญในเรื่องนี้แล้ว โดยได้รวบรวมข้อมูลและแผนที่แหล่งวัตถุดิบในประเทศอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการพัฒนาต่อไป โดยผู้กำหนดนโยบายจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรม SAF ของประเทศไทยให้เติบโตอย่างเป็นรูปธรรม ความสำเร็จของอุตสาหกรรมนี้จะต้องอาศัยการประสานงานในระดับสูง ระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ส่วนตัวรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นผู้กำหนดนโยบายจำนวนมากมาร่วมงานในวันนี้ และได้ทราบถึงการหารือที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับ SAF ในประเทศไทย ทั้งนี้ิ การเผยแพร่แผนกลยุทธ์ SAF ระดับชาติอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายการผสม SAF จำนวน 1% ภายในปี 2569 จะสร้างความชัดเจนที่จำเป็นสำหรับผู้ผลิตและนักลงทุนที่มีศักยภาพ

"ดิฉันมีความเชื่อมั่นอย่างมากต่อแนวโน้มของประเทศไทยในฐานะผู้ผลิต SAF ส่วนตัวต้องขอขอบคุณรัฐบาลไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ได้ร่วมกันสร้างพื้นฐานที่มั่นคงให้แก่อุตสาหกรรม SAF ในประเทศ โดยประเทศไทยมีความได้เปรียบจากการมีวัตถุดิบสำหรับการผลิต SAF จำนวนมาก และมีวิสัยทัศน์ระยะยาวที่ชัดเจน ดิฉันมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิต SAF ให้กับโลกได้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมมือกับภาครัฐ ผู้ผลิต และสายการบินต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อร่วมกันสร้างอุตสาหกรรม SAF ให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืนต่อไปในอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน บริษัทแอร์บัส กล่าว
You might be intertested in this news.
Mostview
โทโฮคุ ชินคันเซ็น E5 ฮายาบุสะ 60 ตัวจริง จากหนังดัง "Bullet Train Explosion"
จากหนังแอ็คชั่นญี่ปุ่น "Bullet Train Explosion : ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ" เรื่องราวชินคันเซ็น ขบวนฮายาบุสะ 6050B ถูกคนร้ายขู่วางระเบิด ห้ามรถวิ่งต่ำกว่า 100 กม./ชม. กับข้อมูลที่จะพาไปตามรอยเส้นทางรถไฟที่วิ่งเร็วสุดที่ 320 กม./ชม.จากชิน อาโอโมริตรงสู่โตเกียว
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม...
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น เมื่อสองพี่น้องต่างอุดมการณ์แตกต่างกัน จะขึ้นครองบัลลังก์อาณาจักรศรีสัชนาลัย สุโขทัย ...
ไฟฟ้าดับยุโรปคลี่คลาย สเปนกู้คืนได้ 50% โปรตุเกสไม่พบการโจมตีทางไซเบอร์
สเปน กู้คืนไฟฟ้ากลับเข้าระบบแล้ว 50% หลังไฟฟ้าดับวงกว้างกว่า 10 ชั่วโมง ด้านโปรตุเกสเจอรับผลกระทบไม่ต่างกัน จนต้องประชุมฉุกเฉิน 2 ประเทศ เร่งหาสาเหตุ-แก้ปัญหา ขณะที่ ยังไม่พบหลักฐานชี้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค
ไขคดีใหม่ “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ
นาครั้งใหม่ ของภาพยนตร์อะนิเมะสืบสวนสุดเดือด “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ 2” จาก ค่ายยักษ์ใหญ่ บริษัท เดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส) จำกัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
