อ่อนแอ ล่าช้า ไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจัยฉุดดีล NISSAN-HONDA ล่ม
by Trust News, 20 กุมภาพันธ์ 2568
เพราะอะไร การควบรวมกิจการระหว่าง บริษัทนิสสันมอเตอร์ จำกัด (Nissan Motor Co.Ltd) และบริษัทฮอนด้า มอเตอร์จำกัด (Honda Motor Co.Ltd) ซึ่งจะทำให้เกิดยักษ์ใหญ่ตัวใหม่แห่งวงการอุตสาหกรรมยานยนต์โลก กลายเป็นเพียง “ฝันสลาย” ภายในระยะเวลาการเจรจาเพียงประมาณ 1 เดือนครึ่งเท่านั้น
อะไรคือจุดเปลี่ยนในแต่ละขั้นตอนการจรจา ก่อนจะนำมาซึ่ง “การประกาศแยกทาง” จากมุมมองการวิเคราะห์ของสื่อในประเทศญี่ปุ่นกันบ้าง วันนี้ “เรา” ลองไปสำรวจข้อมูลที่น่าสนใจนี้ด้วยกัน
อะไรที่ทำให้ข้อเสนอบริษัทร่วมทุน แปรเปลี่ยนเป็นบริษัทในเครือ :
แรกเริ่มเดิมที จากข่าวในช่วงแรกของการเจรจาควบรวมกิจการระหว่างฮอนด้าและนิสสัน คือ จะมีการจัดตั้ง “บริษัทร่วมทุน” (Holding Company) โดยฮอนด้า จะเป็นฝ่ายที่เสนอชื่อประธานและกรรมการบริษัทส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า ทิศทางการเดินหน้าธุรกิจจะอยู่ในมือฮอนด้า
ขณะที่ในส่วนการตั้งบุคลากรฝ่ายบริหารของนิสสัน นั้น ฮอนด้าจะไม่เข้าไปก้าวก่ายเพียงแต่จะมีการใช้ดุลยพินิจพิจารณาในระดับหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ดีในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศ “แยกทาง” อย่างเป็นทางการนั้น มีรายงานว่า ฮอนด้า ได้เสนอให้นิสสันเข้ามาเป็นบริษัทในเครือ แทนที่จะเป็นการรวมกิจการผ่าน “บริษัทร่วมทุน” ซึ่งแน่นอนว่าข้อเสนอนี้ ฝ่ายนิสสันได้ “ปฏิเสธอย่างแข็งแรง” และนำไปสู่การประกาศยกเลิกการควบรวมกิจการในที่สุด
แล้วเพราะอะไรฮอนด้า จึงเปลี่ยนข้อเสนอจากบริษัทร่วมทุน จึงกลายเป็นเรียกร้องให้นิสสันเข้ามาเป็นบริษัทในเครือแทน?
1. การปรับโครงสร้างองค์กรอันแสนล่าช้าของนิสสัน :
หนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญของฮอนด้า ก่อนการควบรวมกิจการ คือ นิสสันจะต้องดำเนินการปรับโครงสร้างบริษัท และสร้างธุรกิจใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาผลประกอบการที่ย่ำแย่ และมีการผลิตส่วนเกินจำนวนมาก เพราะฝ่ายฮอนด้าเชื่อว่า หากนิสสันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวได้ โอกาสที่นิสสันจะฟื้นตัวย่อมเป็นไปได้ยาก ซึ่งตรงกับความเห็นของบรรดานักลงทุนส่วนใหญ่
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว นิสสัน ได้พยายามเร่ิมต้น “แผนพลิกฟื้นธุรกิจ” (Turnaround plan) ด้วยการพิจารณา ปรับลดพนักงาน 9,000 คน หรือคิดเป็น 7% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด รวมถึง ลดกำลังการผลิตลง 20% หากแต่ข้อเสนอดังกล่าว ในมุมมองของฮอนด้าแล้ว นอกจากไม่เพียงพอแล้ว ยังถือเป็นการดำเนินการที่ล่าช้ามากเกินไปด้วย
นั่นเป็นเพราะ จากกระแสข่าวที่หลุดรอดออกมานั้น แม้แต่คนในนิสสันเองส่วนใหญ่ ต่างมีความเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทจำเป็นต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ในระดับเดียวกับแผนฟื้นฟูที่ “คาร์ลอส กอส์น” (Carlos Ghosn) อดีตประธานบริษัทผู้อื้อฉาว เคยคิดนำมาใช้ นั่นคือ อาจต้องปรับลดพนักงานมากถึง 40,000 คน!
** หมายเหตุ : อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแผนดังกล่าว ซึ่งมีการประกาศใช้ในปี 1999 นั้น นิสสันประกาศปลดพนักงานเพียง 21,000 คน หรือ คิดเป็น 14% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในเวลานั้น **
และไม่เพียงเท่านั้น แผนการลดกำลังการผลิต ซึ่งถูกเสนอโดย “ฮิเดยูกิ ซากาโมโตะ” (Hideyuki Sakamoto) รองประธานบริหารฝ่ายการผลิตและการจัดการซัพพลายเชนของนิสสัน ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนักสำหรับฮอนด้าด้วย เนื่องจากเป็นลักษณะการปรับโครงสร้างแบบครึ่งเดียว นั่นคือ “การรวมสายการผลิต” (Line Integration) หรือ การรวมกระบวนการผลิตรถยนต์บางส่วนจากโรงงานที่ 1 ไปยังโรงงานที่ 2 ที่อยู่ในพื้นที่ติดกัน แทนที่จะเป็น “การปิดโรงงานที่ไม่มีความจำเป็น”
ทั้งนี้ในปี 2018 กำลังการผลิตรถยนต์ทั่วโลกของนิสสัน อยู่ที่ 7.2 ล้านคัน แต่หลังจากมีการปิดโรงงานในประเทศสเปน และ อินโดนีเซีย จึงลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านคัน อย่างไรก็ดี กำลังการผลิตในปีงบประมาณ ปี 2024 นั้นอยู่ที่ประมาณ 3.2 ล้านคัน และมี Operating rate อยู่ที่เพียงประมาณ 60% เท่านั้น ทั้งๆที่ในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์โดยทั่วไปนั้น Operating rate ควรจะอยู่ที่ 80% เป็นอย่างน้อย จึงจะสามารถทำกำไรได้
แล้วการปิดโรงงานของนิสสัน มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน? :
แผนการปรับโครงสร้างนิสสันในปี 2020 - ปี 2023 ภายใต้ชื่อ Nissan NEXT ซึ่งมีอดีตผู้บริหาร “จุน เซกิ” (Jun Seki) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันแผนการปรับโครงสร้างดังกล่าวในเวลานั้น ได้ยืนกรานอย่างหนักแน่นว่า นิสสันจะต้องปิดโรงงานในอินโดนีเซียและสเปน เพื่อกำจัดต้นตอของปัญหาที่จะทำให้บริษัทผุพังลงไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับเสียงต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างหนักหน่วงและรุนแรงก็ตาม
โดย “จุน เซกิ” ให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการปิดโรงงาน เพื่อเปิดทางให้นิสสันสามารถฟื้นตัวได้นั้น เป็นเพราะการปิดโรงงาน นอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความพยายามฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆแล้ว ยังถือเป็นเทคนิคสำคัญที่จะทำให้การปรับโครงสร้างใหม่ประสบความสำเร็จด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังถือเป็นการแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่าบริษัทต้องการลดค่าใช้จ่ายลง ซึ่งจะมีผลทำให้พันธมิตรทางธุรกิจเกิดความเชื่อมั่น และยอมผ่อนปรนเรื่องการปรับลดต้นทุนต่างๆลงให้มากกว่าเดิม
** หมายเหตุ ปัจจุบัน “จุน เซกิ” ไปดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธธุรกิจ EV ให้กับบริษัทหองไห่ พรีซีซัน อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co.Ltd. หรือ ที่เรารู้จักมักคุ้นในชื่อ Foxconn ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่จากไต้หวัน) **
2. ความอ่อนแอของประธานนิสสัน :
อีกหนึ่งมุมมองการวิเคราะห์ที่น่าสนใจของสื่อญี่ปุ่น คือ ความไม่พอใจของฮอนด้า อันเกิดจากการดำเนินการ “แผนพลิกฟื้นธุรกิจ” อันแสนเชื่องช้าและครึ่งๆกลางๆของนิสสัน นั้น น่าจะมีปัจจัยสำคัญมาจาก “มาโกโตะ อูชิดะ” (MokotoUchida) ประธานและ CEO ของ นิสสัน ขาดทั้งภาวะผู้นำและความมุ่งมั่น รวมถึงไม่มีอำนาจเด็ดขาดเพียงพอ ในการควบคุมผู้บริหารคนอื่นๆ ให้ดำเนินการแผนการดังกล่าวได้อย่างจริงจัง
ซึ่งประเด็นนี้ สอดคล้องกับการประกาศโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของนิสสันเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ผู้บริหารระดับสูงที่ควรต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวอย่างถึงขีดสุดของนิสสันในช่วงที่ผ่านมา กลับยังคงมีชื่ออยู่ในตำแหน่งบริหารสำคัญๆเช่นเดิม เพียงแต่ถูกโยกไปรับผิดชอบตำแหน่งงานใหม่เท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่นกรณี “Jeremie Papin” ผู้รับผิดชอบตลาดอเมริกาเหนือ ซึ่งถือเป็นจุดที่นิสสันล้มเหลวอย่างหนักหน่วงที่สุด แต่กลับถูกโยกจากตำแหน่งเดิม คือ Chairperson of the Management Committee for the Americas เพื่อไปรับตำแหน่ง CFO (Chief Financial Officer) หรือ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินเท่านั้น ในขณะที่ CFO คนเดิม คือ “Stephen Ma” ถูกโยกไปทำหน้าที่ Chairperson of the Management Committee for China เพื่อดูแลธุรกิจในประเทศจีน ซึ่งประเด็นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นิสสันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารชุดเดิมได้
ด้วยเหตุนี้ ฮอนด้าจึงเชื่อว่า ข้อเสนอการควบรวมกิจการกับนิสสันภายใต้บริษัทร่วมทุน และอนุญาตให้นิสสันสามารถบริหารจัดการได้ในระดับหนึ่ง ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ทั้งสองบริษัทล่มสลาย และเพราะเหตุนี้เอง ฮอนด้าจึงยื่นข้อเสนอให้นิสสันเข้ามาเป็นบริษัทในเครือ เพื่อจำกัดความเสี่ยงดังกล่าว
3. มือที่สามที่มีชื่อว่า Hon Hai Precision Industry Co.Ltd. :
แม้ว่าการประกาศ “แยกทาง” อย่างเป็นทางการระหว่างนิสสันและฮอนด้า จะไม่ถึงกับไร้ช่องทางที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้ากลับมาเจรจาเรื่องการควบรวมกิจการอีกครั้งก็ตาม แต่สื่อในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เชื่อว่า “โอกาส” ที่จะเกิดเรื่องเช่นนั้น มีความเป็นไปได้ที่น้อยมากๆ เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะฟื้นฟูความไว้วางใจที่ถูกทำลายลงไปแล้วให้กลับมาดีดั่งเดิม โดยเฉพาะมีเมื่อ Hon Hai Precision Industry Co.Ltd. เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมการ!
ก่อนหน้าการเจรจาควบรวมกิจการระหว่างนิสสันและฮอนด้า นั้น มีรายงานอย่างต่อเนื่องว่า “Hon Hai” ได้พยายามติดต่อกับบรรดาผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของนิสสันมาโดยตลอด รวมถึงยังมีรายงานด้วยว่า เคยหารือกับทางรัฐบาลฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ในประเด็นที่เรื่องการซื้อหุ้น Nissan ในสัดส่วน 35% ซึ่งอยู่ในมือของ “เรโนลต์ เอสเอ” (Renault SA) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของยุโรปมาแล้ว และความตั้งใจดังกล่าวเด่นชัดมากขึ้นไปอีก หลังดีลระหว่างนิสสันและฮอนด้าถึงกาลอับปาง
โดยเมื่อวันที่ 12ก.พ.25 “หลิว หยางเวย” (Liu Yangwei) ประธาน Hon Hai Precision Industry Co.Ltd. ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อไต้หวัน ถึงประเด็นดังกล่าวโดยระบุว่า “ความสนใจในนิสสันนั้น มีจุดประสงค์สำคัญคือการเป็นหุ้นส่วน ไม่ใช่การเข้าซื้อกิจการ และความร่วมมือนี้จะเป็นไปในลักษณะของการร่วมออกแบบและรับจ้างผลิต โดยจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการบริหารจัดการ”
แล้วเพราะอะไร Hon Hai จึงสนใจ Nissan? :
ปัจจุบัน Hon Hai กำลังมุ่งเบนเข็มไปสู่ธุรกิจรถยนต์ EV ที่กำลังโตวันโตคืน โดยมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาเป็นระยะๆ อย่างไรก็ดีการขาดแคลนเทคโนโลยีบางอย่าง ซึ่งอาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ “นิสสัน” ซึ่งอยู่ในธุรกิจนี้มายาวนาน แถมยังกำลังซวนเซในเรื่องการทำธุรกิจ จึงกลายเป็นที่น่าสนใจไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ดี มีรายงานข่าวก่อนนี้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่น ไม่ค่อยสู้เต็มใจนักที่จะทำให้เกิดดีลระหว่างนิสสันและ Hon Hai ด้วยเพราะไม่อยากให้ธุรกิจยานยนต์ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน เนื่องจากฝ่ายหลังนั้นมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับรัฐบาลปักกิ่ง
โอว...อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องไม่ลืม ยังจำชื่อ “จุน เซกิ” จากบรรทัดด้านบนนั่นได้ไหม บางทีความสัมพันธ์ในอดีตอาจเข้ามามีบาทสำคัญในก้าวต่อไปของ Hon Hai ก็เป็นได้!
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ จากบทความอันแสนยาวยืด “คุณ” มีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง?

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
You might be intertested in this news.
Mostview
โทโฮคุ ชินคันเซ็น E5 ฮายาบุสะ 60 ตัวจริง จากหนังดัง "Bullet Train Explosion"
จากหนังแอ็คชั่นญี่ปุ่น "Bullet Train Explosion : ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ" เรื่องราวชินคันเซ็น ขบวนฮายาบุสะ 6050B ถูกคนร้ายขู่วางระเบิด ห้ามรถวิ่งต่ำกว่า 100 กม./ชม. กับข้อมูลที่จะพาไปตามรอยเส้นทางรถไฟที่วิ่งเร็วสุดที่ 320 กม./ชม.จากชิน อาโอโมริตรงสู่โตเกียว
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม...
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น เมื่อสองพี่น้องต่างอุดมการณ์แตกต่างกัน จะขึ้นครองบัลลังก์อาณาจักรศรีสัชนาลัย สุโขทัย ...
ไฟฟ้าดับยุโรปคลี่คลาย สเปนกู้คืนได้ 50% โปรตุเกสไม่พบการโจมตีทางไซเบอร์
สเปน กู้คืนไฟฟ้ากลับเข้าระบบแล้ว 50% หลังไฟฟ้าดับวงกว้างกว่า 10 ชั่วโมง ด้านโปรตุเกสเจอรับผลกระทบไม่ต่างกัน จนต้องประชุมฉุกเฉิน 2 ประเทศ เร่งหาสาเหตุ-แก้ปัญหา ขณะที่ ยังไม่พบหลักฐานชี้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค
ไขคดีใหม่ “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ
นาครั้งใหม่ ของภาพยนตร์อะนิเมะสืบสวนสุดเดือด “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ 2” จาก ค่ายยักษ์ใหญ่ บริษัท เดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส) จำกัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
