ARDA อวดโฉม เครื่อง CT-Scan ทุเรียน ใช้ AI คัด "ไม่อ่อน-ไม่หนอน" แค่ 3วิ รู้
by Trust News, 10 มีนาคม 2568
ARDA โชว์ผลงาน ความสำเร็จในการสร้าง "เครื่อง CT-Scan ทุเรียน" เทคโนโลยีการประมวลผลสุดล้ำด้วย AI คัดทุเรียน “ไม่อ่อน-ไม่หนอน” 1 ลูกใช้เวลาสแกน 3 วินาที รองรับการทำงานระดับโรงคัดบรรจุ เพื่อส่งออกต่างประเทศ
ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยถูกขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งทุเรียน” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดโลกปีละไม่ต่ำกว่า 800,000 ตันต่อปี อยู่ในภาคตะวันออกของไทย 300,000 ตัน ภาคใต้ประมาณ 500,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกหลักของไทยยังคงเป็นประเทศจีนที่มีการนำเข้าปีละไม่ต่ำกว่า 700,000 ตัน และถึงแม้ทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย แต่การคัดแยกระดับความอ่อน-แก่และการตรวจสอบปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนยังคงเป็นความท้าทายสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ซึ่งหากไทยไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ นั่นไม่เพียงแต่จะเสียแชมป์ส่งออกทุเรียนเบอร์ 1 ของโลก แต่ยังเป็นการสูญรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล

นายวิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA กล่าวว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะตลาดจีนที่มีความต้องการสูง แต่ปัญหาใหญ่ที่พบบ่อยและกระทบต่อการตลาดส่งออกทุเรียน คือ ปัญหาหนอนในผลทุเรียนและการเก็บทุเรียนอ่อนมาจำหน่าย อีกทั้งยังพบการลักลอบส่งออกทุเรียนอ่อนไปตลาดต่างประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ และทำลายความเชื่อมั่นในคุณภาพทุเรียนไทยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นหากประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยคัดกรองทุเรียนที่แม่นยำก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงและแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ARDA จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อดำเนินโครงการ “การออกแบบเครื่องคัดแยกความอ่อน-แก่ และหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนด้วยเทคนิค CT-Scan ร่วมกับการประมวลผลผ่านโครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก” เพื่อออกแบบ และพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบความอ่อน - แก่ และหนอนในผลทุเรียนด้วยเทคนิค CT-Scan ระดับโรงคัดบรรจุ ที่มีความแม่นยำไม่น้อยกว่าร้อยละ 95

ผู้อำนวยการ ARDA กล่าวต่อว่า ขณะนี้ การประเมินเพื่อคัดทุเรียนอ่อน-แก่จะใช้วิธีฟังเสียงเคาะ ซึ่งต้องใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเกษตรกร แต่ก็ไม่สามารถยืนยันผลได้ 100% ขณะที่หนอนมีวงจรชีวิตอยู่ข้างในและเติบโตพร้อมผลทุเรียนจึงไม่รู้ว่าทุเรียนแต่ละลูกมีหนอนหรือไม่ เพราะยังไม่มีวิธีตรวจสอบ แต่การใช้เทคนิค CT-Scan ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความละเอียดสูง ร่วมกับการประมวลผลผ่านโครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึกด้วย AI ที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ จะทำให้สามารถวิเคราะห์ความอ่อนแก่ของทุเรียนได้อย่างแม่นยำและมองเห็นหนอนที่อยู่ภายในผลทุเรียนได้

นายวิชาญ กล่าวอีกว่า CT-Scan นับเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยคัดกรองและรักษาคุณภาพมาตรฐานทุเรียนไทยที่มีประสิทธิภาพสูงก่อนส่งออกไปสู่ตลาดโลก ซึ่งหากเราไม่หาวิธีตรวจสอบคุณภาพทุเรียน ไทยอาจเสียแชมป์การส่งออกทุเรียนให้กับประเทศผู้ค้ารายอื่น ที่พยายามแบ่งตลาดส่งออกทุเรียนไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะเวียดนามที่ปี 2567 การส่งออกทุเรียนเติบโตขึ้นถึง 7.8 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2565 และบางช่วงเวลามีมูลค่าการส่งออกมากกว่าไทย หรือประเทศมาเลเซียที่กำลังวิจัยพัฒนาพันธุ์ทุเรียนที่คาดว่าจะเป็น Killer of Mon-Thong หรือผลิตมาเพื่อฆ่าหมอนทองของไทย ซึ่งจะทำให้เราสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันและเสียรายได้ไปอย่างน่าเสียดาย

ด้าน รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า เครื่องตรวจ CT-Scan ทุเรียนเกิดขึ้นจากสมมติฐานทางการแพทย์ที่ใช้เครื่องดังกล่าวสแกนร่างกายมนุษย์ที่มีความซับซ้อน จึงคาดว่าน่าจะใช้กับทุเรียนได้เช่นกัน ทางคณะผู้วิจัยฯ จึงได้นำเครื่อง CT-Scan ตกรุ่นปลดระวางจากบริษัทเอกชนที่ให้บริการด้านเครื่องมือแพทย์ มาพัฒนาเป็นเครื่องต้นแบบ และนำผลทุเรียนเข้าไปทดลอง พบว่าสามารถมองเห็นความอ่อน - แก่ และหนอนในทุเรียนได้อย่างชัดเจน

อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิศวกรรมศาสตร์ มทร.สุรนารี กล่าวต่อว่า วิธีการทำงานเครื่องจะสแกนภาพออกมาหลายเฟรม ในแต่ละเฟรมจะแสดงค่า CT-Numbers ที่บ่งบอกถึงความหนาแน่นของวัตถุ โดยการเปรียบเทียบกับความหนาแน่นของน้ำส่วนไหนที่มีความหนาแน่นมากกว่าน้ำภาพจะเป็นสีขาว ส่วนที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ เช่น อากาศ จะมีภาพเป็นสีดำ ซึ่งทุเรียนอ่อนจะมีน้ำเยอะกว่าทุเรียนแก่ โดยปัญหาการทดลองช่วงแรกพบว่า เมื่อเครื่องสแกนทุเรียนแล้ว ตัวสายพานรางเลื่อนผลทุเรียนจะย้อนกลับออกมาทางเดิม ซึ่งทางคณะผู้วิจัยได้มีการปรับแก้ไขให้รางเลื่อนผ่านไปทางเดียว ไม่ต้องย้อนกลับมาทางเดิมอีก เนื่องจากหากต้องนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่มีผลผลิตจำนวนมากเครื่องต้องสามารถทำงานได้รวดเร็วและไม่ยุ่งยากซับซ้อน


“ปัจจุบันเครื่องต้นแบบ CT-Scan สามารถสแกนผลทุเรียนออกมาเป็นภาพที่มีความละเอียดสูง ด้วยระยะห่าง 1 ซม./เฟรม หมายความว่าหากผลทุเรียนยาว 30 ซม. เมื่อผ่านเครื่องสแกนจะได้ภาพออกมา 30 เฟรม ในแต่ละเฟรมห่างกัน 1 ซม. ครอบคลุมพื้นที่ตลอดผล จากนั้นจะนำค่า CT-Numbers ที่ได้ในแต่ละเฟรมมาประมวลผลด้วย AI ซึ่งถูกเขียนและพัฒนาขึ้นใหม่โดยเฉพาะ ให้สามารถจำแนกลักษณะความสุกและตรวจหาหนอนภายในลูกทุเรียนได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคำนวณระยะเวลาขนส่งในการส่งออกให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ อีกทั้งการตรวจสอบยังใช้เวลาเพียง 3 วินาทีต่อลูก หรือ 1,200 ลูก/ชั่วโมง ไม่ว่าจะวางผลทุเรียนเข้าสู่เครื่องสแกนลักษณะใด ระบบดังกล่าวก็สามารถสแกนได้ ซึ่งเป็นการช่วยลดเวลาและลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกทุเรียนให้กับล้ง" รศ.ดร.ชาญชัย กล่าว

อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิศวกรรมศาสตร์ มทร.สุรนารี กล่าวอีกว่า สำหรับต้นทุนราคาต่อเครื่อง ถึงแม้เครื่อง CT-Scan ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์จะมีราคาประมาณ 10 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีเครื่องตกรุ่นที่ถูกปลดระวางทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งานให้สามารถนำมาพัฒนาเป็นเครื่อง CT-Scan สำหรับใช้ตรวจสอบทุเรียน โดยคาดว่าจะมีราคาต่อเครื่องไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นราคาที่เหมาะสมและคุ้มค่าสำหรับโรงคัดแยกผลไม้หรือล้งจะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยเครื่อง CT-Scan นี้ยังสามารถใช้กับผลไม้ชนิดอื่นได้แทบทุกชนิด ไม่เฉพาะกับแค่ทุเรียนเท่านั้น


รศ.ดร.ชาญชัย กล่าวด้วยว่า นวัตกรรม CT-Scan ทุเรียนด้วย AI ภายใต้โครงการวิจัยนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการส่งออกทุเรียนของไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างความได้เปรียบในตลาดโลก ความลดความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการถูกตีกลับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ อีกทั้งเป็นการสร้างการยอมรับและเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้นำเข้าที่จะส่งผลต่อปริมาณการสั่งซื้อทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ ของไทยในระยะยาวต่อไป.
You might be intertested in this news.
Mostview
โทโฮคุ ชินคันเซ็น E5 ฮายาบุสะ 60 ตัวจริง จากหนังดัง "Bullet Train Explosion"
จากหนังแอ็คชั่นญี่ปุ่น "Bullet Train Explosion : ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ" เรื่องราวชินคันเซ็น ขบวนฮายาบุสะ 6050B ถูกคนร้ายขู่วางระเบิด ห้ามรถวิ่งต่ำกว่า 100 กม./ชม. กับข้อมูลที่จะพาไปตามรอยเส้นทางรถไฟที่วิ่งเร็วสุดที่ 320 กม./ชม.จากชิน อาโอโมริตรงสู่โตเกียว
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม...
ไฟฟ้าดับยุโรปคลี่คลาย สเปนกู้คืนได้ 50% โปรตุเกสไม่พบการโจมตีทางไซเบอร์
สเปน กู้คืนไฟฟ้ากลับเข้าระบบแล้ว 50% หลังไฟฟ้าดับวงกว้างกว่า 10 ชั่วโมง ด้านโปรตุเกสเจอรับผลกระทบไม่ต่างกัน จนต้องประชุมฉุกเฉิน 2 ประเทศ เร่งหาสาเหตุ-แก้ปัญหา ขณะที่ ยังไม่พบหลักฐานชี้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค
ลิเวอร์พูลแชมป์ลีก20สมัย ความยืดหยุ่นสู่ความสำเร็จ (ชมคลิป)
ลิเวอร์พูลแชมป์ลีก20สมัย ความยืดหยุ่นสู่ความสำเร็จ
การบินไทย ตั้ง บ.ร่วมทุนกับ KMC ดัดแปลงโบอิ้ง 777-300ER เป็นเครื่องบินขนสินค้า
การบินไทยทำ MOU กับ KMC ผู้เชี่ยวชาญในการดัดแปลงอากาศยาน ในการนำเครื่องบินโดยสาร โบอิ้ง 777-300ER ทำเป็นเครื่องคาร์โกส่งสินค้าพิสัยไกลแบบมีประตูขนสินค้าที่ลำตัวส่วนหน้า ที่ฝ่ายช่างดอนเมือง-อู่ตะเภา อันจะสร้างการจ้างงานยกระดับอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
