วันอังคาร, กรกฎาคม 22, 2568

เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจ บีบรัฐบาลญี่ปุ่นจนมุม

by Trust News, 22 กรกฎาคม 2568

เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจ บีบรัฐบาลญี่ปุ่นจนมุม

ผลการเลือกตั้ง : พรรครัฐบาลสูญเสียเสียงข้างมากทั้งสองสภา

การเลือกตั้งวุฒิสภาญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2025 กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปีของญี่ปุ่น เมื่อพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ซึ่งประกอบด้วยพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) และพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง Komeito สูญเสียเสียงข้างมากในวุฒิสภา นับเป็นการพ่ายแพ้อย่างรุนแรง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ก็ได้สูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วในการเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2024

ปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นจึงกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในทั้งสองสภา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่นยุคใหม่

โครงสร้างรัฐสภาและความหมายของ “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” :

ระบบรัฐสภาของญี่ปุ่นประกอบด้วยสองสภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) และวุฒิสภา (สภาสูง) โดยสภาล่างมีบทบาทสำคัญกว่าในด้านการจัดตั้งรัฐบาลและการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หากรัฐบาลสูญเสียเสียงข้างมากในสภาล่าง อาจนำไปสู่การยุบสภาหรือการเปลี่ยนตัวผู้นำได้

ขณะที่วุฒิสภา ทำหน้าที่ถ่วงดุลและกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งแม้จะไม่มีอำนาจโหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ แต่สามารถชะลอหรือปฏิเสธร่างกฎหมายได้ การที่รัฐบาลอิชิบะเป็นเสียงข้างน้อยในทั้งสองสภาจึงไม่เพียงแต่ทำให้การออกกฎหมายยากขึ้น แต่ยังสะท้อนถึงการเสื่อมถอยของอำนาจทางการเมืองในภาพรวม

สัญญาณไม่พอใจจากประชาชน : ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ และความไม่โปร่งใส

การพ่ายแพ้ของพรรครัฐบาลสะท้อนถึงความไม่พอใจของประชาชนต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นและกรณีอื้อฉาวด้านการระดมทุนของพรรค LDP ทั้งยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในฐานเสียง

โดยกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งวัยหนุ่มสาวหันไปสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านขนาดเล็กและพรรคประชานิยมขวาจัด เช่น พรรค Democratic Party For the People (DPP) และพรรค Sanseito ที่มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์สถานะปัจจุบันของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา

วิกฤตเงินเฟ้อ : หนึ่งในปัจจัยที่เปลี่ยนเกมการเมือง :

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดของการเลือกตั้งคือภาวะเงินเฟ้อที่เรื้อรัง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนมิถุนายน 2025 อยู่ที่ 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ Core-core CPI ที่ตัดทั้งอาหารสดและพลังงานออกไปยังคงสูงถึง 3.4% ซึ่งเกินกว่าการคาดการณ์เดิมอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ไม่รวมอาหารสดที่พุ่งขึ้นกว่า 5.1% ถือเป็นแรงกดดันโดยตรงต่อครัวเรือนญี่ปุ่น

นอกจากนี้ การสำรวจของ BOJ ยังพบว่าความคาดหวังเงินเฟ้อของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่างจากมุมมองของรัฐบาล ที่ยังยืนกรานว่าเงินเฟ้อ เป็นปัจจัยชั่วคราว จากต้นทุนการผลิต ความแตกต่างนี้ ส่งผลให้ประชาชนเรียกร้องนโยบายระยะยาว เช่น การลดภาษีถาวร แทนเงินช่วยเหลือชั่วคราวที่รัฐบาลเสนอมาโดยตลอด

ทางตันด้านนโยบาย : ความไม่แน่นอนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ภายใต้บริบทที่รัฐบาลไม่มีเสียงข้างมากในทั้งสองสภา การผ่านร่างกฎหมายสำคัญจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายค้าน ซึ่งหมายถึงการต่อรอง การปรับลดความทะเยอทะยานของนโยบาย หรือแม้กระทั่งการละทิ้งแนวทางดั้งเดิมที่เคยวางไว้ พรรคร่วมฝ่ายค้านบางพรรคยังผลักดันนโยบายการคลังที่ผ่อนคลาย เช่น การลดภาษีบริโภคหรือเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งอาจสร้างความกังวลต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองที่ต่อต้านแรงงานต่างชาติ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้มงวดในนโยบายการเข้าเมือง และยิ่งทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการรุนแรงขึ้น

การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ : ความไม่มั่นคงทางการเมืองเป็นอุปสรรค

รัฐบาลอิชิบะอยู่ระหว่างการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีนำเข้า 25% ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2025 เป็นต้นไป แต่ฐานะทางการเมืองที่ไม่มั่นคงอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการเจรจา

ทั้งยังอาจทำให้เกิดความล่าช้าหรือความขัดแย้งภายในเกี่ยวกับการยอมประนีประนอมในประเด็นที่อ่อนไหว เช่น ภาคเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมยานยนต์ หากมีการเปลี่ยนผู้นำหรือเกิดความปั่นป่วนทางการเมืองเพิ่มขึ้น การเจรจาอาจหยุดชะงัก และสร้างผลกระทบต่อภาคส่งออกของญี่ปุ่นโดยตรง

ตลาดเงิน ตลาดทุน และธนาคารกลาง : การรับมือกับความผันผวน

ตลาดการเงินญี่ปุ่นตอบสนองต่อความไม่แน่นอนทางการเมืองอย่างรวดเร็ว โดยนักลงทุนเริ่มลดความเสี่ยงต่อสินทรัพย์ญี่ปุ่น ความผันผวนของค่าเงินเยนจึงสูงขึ้น โดยเยนอาจแข็งค่าระยะสั้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย แต่หากสถานการณ์การเมืองยังไม่คลี่คลายหรือไม่มีความคืบหน้านโยบายเศรษฐกิจ เงินเยนก็อาจกลับมาอ่อนค่าได้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เตรียมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้นในการประชุมปลายเดือนกรกฎาคม แต่การขึ้นดอกเบี้ยอาจล่าช้า เนื่องจากไม่ต้องการซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจในภาวะที่การเมืองยังไร้ทิศทาง

เงินเยนอ่อนค่า : ปัจจัยที่ซ้อนทับเศรษฐกิจและสังคม

เงินเยนอ่อนค่ากลายเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงปัญหาเศรษฐกิจและความไม่พอใจของประชาชน โดยทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น ราคาสินค้าในประเทศปรับตัวเพิ่ม ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติแห่เข้ามาใช้จ่าย ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ากำลังซื้อของตนเองลดลง และถูกแย่งชิงโอกาสทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ค่าเงินเยนที่อ่อน ยังทำให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางออกนอกประเทศได้ยากขึ้น จากภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

อนาคตของนายกรัฐมนตรีอิชิบะ : แรงกดดันภายในและภายนอก

แม้ผลการเลือกตั้งจะไม่ทำให้รัฐบาลต้องพ้นจากตำแหน่งโดยทันที แต่สถานะของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะกำลังสั่นคลอนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะแรงกดดันจากภายในพรรค LDP ที่เริ่มตั้งคำถามถึงความสามารถในการนำพาพรรคสู่ชัยชนะอีกครั้งในอนาคต

ความล้มเหลวในการควบคุมปัญหาเศรษฐกิจและการสูญเสียฐานเสียงสำคัญอาจนำไปสู่การลาออกโดยสมัครใจ หรือ เกิดการท้าทายภายในพรรคในการเลือกหัวหน้าคนใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางนโยบายทั้งหมดในช่วงปลายปีนี้

มุมมองการลงทุน : รอจังหวะที่เหมาะสม



ในภาวะที่การเมืองญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนผ่าน นักลงทุนควรใช้กลยุทธ์แบบ “Wait and See” เพื่อรอดูความชัดเจนหลายประการ ทั้งการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ที่มีเส้นตายอยู่ในต้นเดือนสิงหาคมนี้ การประชุมของ BOJ ที่จะเปิดเผยท่าทีเรื่องเงินเฟ้อ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพรรครัฐบาล

หากตลาดหุ้นปรับตัวลงแรงเกินจริง อาจเป็นจุดที่น่าสนใจในการสะสมหุ้นคุณภาพดีระยะยาว แต่ในระยะสั้นแนะชะลอการลงทุน และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

อ้างอิง : บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) , กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์


You might be intertested in this news.

Mostview

แรงกระแทก “สีกากอล์ฟ” นารีพิฆาตพระ กับขบวนการทำลายพุทธศาสนา มีจริงไหม..? (ชมคลิป)

ปกติแล้ว เมื่อพระเจอ “นารีพิฆาต” จะมาในรูปแบบบุคคลกับบุคคล แต่กรณี “สีกากอล์ฟ” นั้น กลับไม่ใช่ เรียกว่า ทำให้คณะสงฆ์สมณศักดิ์หลายรูป โดยเฉพาะชั้น "เทพ" ต้องสละผ้าเหลือง เพราะแบบนี้ จึงถูกตั้งคำถามว่า จะเกี่ยวข้องกับ "ขบวนการทำลายพุทธศาสนา" หรือไม่...

โคล พาลเมอร์ เรียนรู้ที่ แมนฯซิตี้ เพื่อไปประสบความสำเร็จกับเชลซี (ชมคลิป)

โคล พาลเมอร์ เรียนรู้ที่ แมนฯซิตี้ เพื่อไปประสบความสำเร็จกับเชลซี (ชมคลิป)

พลาดพลั้ง สู่การกำเนิดใหม่ ชีวิตที่พลิกผัน ของ อูโก้ เอกิติเก้ (ชมคลิป)

พลาดพลั้ง สู่การกำเนิดใหม่ ชีวิตที่พลิกผัน ของ อูโก้ เอกิติเก้ (ชมคลิป)

แนวโน้มราคาทองคําวันนี้ (16ก.ค.68) ทยอยซื้อสะสม

แนวโน้มราคาทองคําวันนี้ (16ก.ค.68) ทยอยซื้อสะสม

แนวโน้มราคาทองคําวันนี้(22ก.ค.68) ระวังแรงขายระยะสั้น

แนวโน้มราคาทองคําวันนี้(22ก.ค.68) ระวังแรงขายระยะสั้น

TrustNEws Line