วันศุกร์, พฤษภาคม 2, 2568

กว่าจะเป็น Dump Matsumoto

by Trust News, 4 กุมภาพันธ์ 2568

จากหญิงสาวสุดน่ารักอ่อนหวาน ที่มุ่งหวังเพียงแค่อยากหางานทำ เพื่อซื้อบ้านหลังเล็กๆให้กับแม่สักหลัง แต่สุดท้าย “อาชีพนักมวยปล้ำ” กลับทำให้เธอผู้นี้ ต้องกลายร่างเป็น “ราชินีแห่งความชั่วร้าย” ที่ชาวญี่ปุ่นทั้งรักทั้งชัง ระคนหวาดกลัว

หากแต่ “เธอ” คนเดียวกันนี้เองที่ทำให้ “วงการมวยปล้ำหญิงอาชีพของญี่ปุ่น” พุ่งสู่ความนิยมสูงสุดในยุค 80 ถึงขนาดสามารถออกอากาศทางโทรทัศน์ได้ถึง 8 ครั้งต่อเดือน รวมถึง สามารถถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ พร้อมสร้างเรตติ้งได้ถึง 15.1% มาแล้ว!

ด้วยเหตุนี้ “เธอ” คนนี้ จึงเป็นหญิงสาวที่ทั้งชายและหญิงที่เกิดทันในยุค 80 และต้นยุค 90 ยังคงสามารถจดจำชื่อของเธอได้ไม่เคยลืมเลือนอย่างแน่นอน…

และชื่อของเธอ คือ “ดัมพ์ มัตสึโมโตะ” (Dump Matsumoto) หรือ ชื่อจริง “มัตสึโมโตะ คาโอรุ” (Matsumoto Kaoru) ชาวจังหวัดไซตะมะ ประเทศญี่ปุ่น

1. กว่าจะเป็นราชินีแห่งความชั่วร้าย :

“ดัมพ์ มัตสึโมโตะ” เกิดเมื่อวันที่ 11พ.ย.1960 (ปัจจุบันอายุ63ปี) เป็นชาวจังหวัดไซตะมะ ประเทศญี่ปุ่น ครอบครัวมีฐานะยากจน เนื่องจากพ่อมีนิสัยชอบดื่มและเล่นการพนัน

หากแต่โชคดีอยู่บ้าง ที่แม่เป็นคนจิตใจโอบอ้อมอารี และได้เลี้ยงดูเธอมาเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมักจะทำเมนูสุดโปรด คือ “แครอทเทมปุระ” ให้เธอได้กินอยู่เสมอๆ

ด้วยเหตุนี้ “ดัมพ์ มัตสึโมโตะ” ในวัยเด็กจึงเป็นเด็กสาวที่มีบุคคลิกภาพน่ารักสดใสและมีเสน่ห์ อีกทั้งยังมีความผูกพันกับแม่เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เธอจึงตั้งเป้าหมายในชีวิตเอาไว้ว่า เมื่อโตขึ้นจะต้องหางานทำเพื่อ… “ซื้อบ้านดีๆสักหลังให้กับแม่ให้จงได้”

2. เข้าสู่วงการมวยปล้ำ :

เพื่อทำตามความฝันให้เป็นจริง “มัตสึโมโตะ คาโอรุ” จึงตัดสินใจเข้ากรุงโตเกียว เพื่อหางานทำ และอาชีพที่เลือกก็คือ “นักมวยปล้ำหญิง!” โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก นักมวยปล้ำสาวฝ่ายธรรมะที่สุดโด่งดังแห่งยุค 70 อย่าง “แจ๊กกี้ ซาโตะ” (Jackie Sato)

แต่แน่นอนว่า การเดินทางสู่เป้าหมาย ย่อมไม่มีทางที่จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ซึ่งแม้แต่ “ดัมพ์ มัตสึโมโตะ” เองก็เช่นเดียวกัน เพราะเธอล้มเหลวในการออดิชั่น เพื่อเข้าร่วม All Japan Women’s Pro-Wrestling หรือ AJW ในเดือนเมษายน ปี 1977 จนกระทั่งในอีก 2 ปีต่อมา (ปี1979) เธอจึงสามารถผ่านรอบคัดเลือก เข้าสู่วงการมวยปล้ำหญิงอาชีพของญี่ปุ่นได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี การเริ่มต้นใน AJW หาใช่การลงไปฟาดฟันกับฝ่ายตรงข้ามบนเวทีมวยปล้ำแต่อย่างใด เพราะสิ่งแรกที่เธอต้องทำ คือ การทำงานในแผนกฝ่ายขาย ของ AJW ยิ่งไปกว่านั้น หลังผ่านการฝึกมวยปล้ำอย่างหนักเป็นเวลาถึง 2 ปี “ราชินีแห่งความชั่วร้าย” ยังถูกย้ายจากแผนกฝ่ายขาย ไปเป็นพนักงานขับรถส่งเสริมการขายเสียอีกด้วย! โดยในช่วงเวลาดังกล่าว “ดัมพ์ มัตสึโมโตะ” ยอมรับว่า ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเพราะเงินเดือนที่ได้แทบไม่พอใช้

เนื่องจากระบบการจ่ายเงินของ AJW ในช่วงเวลานั้น เป็นการจ่ายเงินค่าจ้างในรูปแบบแบบอิงกับการลงแข่งขัน ฉะนั้น หากไม่ได้ขึ้นทำการแข่งขันก็จะไม่ได้รับเงินค่าจ้าง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หากพ่ายแพ้คู่ต่อสู้ เงินค่าจ้างที่จะได้รับก็จะถูกปรับลดลง ด้วยเหตุนี้จึงมีหญิงสาวหลายต่อหลายคน ที่ต้องจำใจละทิ้งความฝันของตัวเองไปกลางคัน

แต่โชคดีที่ “ดัมพ์ มัตสึโมโตะ” มีแม่ที่คอยให้การสนับสนุน เธอจึงสามารถรอดพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนั้นมาได้ แม้ว่า…เธอจะต้องจำใจโกหกแม่ที่รักมากๆก็ตาม

“ตอนนั้นฉันแทบไม่มีเงินเลย ฉันจึงต้องโกหกแม่ต่างๆนานา ว่า จะขอเอาเงินไปซื้อชุดว่ายน้ำเพื่อลงแข่งขันบ้าง หรือไม่ก็ต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลบ้าง เป็นเวลาถึง 3 ปี หลังเข้าร่วมกับ AJW

โดยเงินทั้งหมดที่ได้รับจากแม่มา ฉันเอาไปใช้เป็นค่าอาหารเพื่อเอาตัวเองให้รอด แต่อย่างไรก็ดี ด้วยเพราะครอบครัวของฉันยากจน เมื่อคิดได้ว่าแม่จะต้องเสียสละยอมอดออมจนกระทั่งไม่ได้กินในสิ่งที่อยากกิน เพื่อส่งเงินมาให้ ตัวฉันเองก็รู้สึกเสียใจมากๆจริงๆ”

3. จาก คาโอรุ สู่ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ :

นี่คือโอกาสสุดท้ายของเธอ!

“วันหนึ่งจู่ๆ ท่านประธานมัตสึนากะ ทาคาชิ (Matsunaga Takashi) โปรโมเตอร์ชื่อดังของ AJW ในเวลานั้น เดินมาบอกกับฉันว่า นี่คือโอกาสสุดท้ายของเธอ นับจากวันพรุ่งนี้ไป เธอจะต้องเป็นรถดัมพ์ให้กับเรา! และนี่เอง คือที่มาของชื่อใหม่ของฉัน ดัมพ์ มัตสึโมโตะ”

4. ชื่อ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ มาจากไหน :

คาโอรุ ให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่นถึงที่มาของชื่อนี้ เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า...

“ชื่อนี้มาจาก มีผู้เข้าชมการแข่งขันของฉันรายหนึ่งเอาแต่ตะโกนขึ้นมาบนเวทีว่า ดูสิผู้หญิงคนนี้ตัวยังกับรถดัมพ์เลย เมื่อท่านประธานมัตสึนากะ ทาคาชิ ได้ยินมาแบบนั้นจึงพูดกับฉันว่า เธอจะเป็นรถดัมพ์ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป

โดยตอนแรกท่านประธานบอกว่า เธอมาจากเมืองคุมะงะยะใช่ไหม? งั้นเป็น ดัมพ์ คุมะงะยะ ก็แล้วกัน ฉันเลยตอบกลับไปว่า ขอเป็น ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ได้ไหม และจากนั้นเป็นต้นมาฉันจึงกลายเป็น ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ในท่ีสุด”

5. เข้าสู่ด้านมืด ราชินีแห่งความชั่วร้าย :

หลังกลายร่างเป็น ดัมพ์ มัตสึโมโตะ เต็มตัว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องกลายร่างเป็นหัวหอก “ฝ่ายอธรรม” ที่มีชื่อว่า “พันธมิตรปิศาจ” (The Devil Alliance) เพื่อยืนอยู่ตรงกันข้ามกับ “คู่หู Crush Gals” ไลโอเนส อสึกะ และ ชิงุสะ นางาโยะ สองนักปล้ำสาวฝ่ายธรรมะที่ได้รับความนิยมอย่างสูงของ AJW

โดยการปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่นี้ เป็นการเปลี่ยนตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม ไม่ว่าจะเป็นการย้อมผมให้เป็นสีบลอนด์ รวมถึงสวมเสื้อผ้าแฟชั่นแนวขบถสังคม ที่หยิบยืมมาจากห้องของน้องสาว ซึ่งกำลังออกเดทอยู่กับหัวหน้าแก๊งมอเตอร์ไซค์!

อีกทั้งการลงปล้ำหรือการปรากฏตัวตามสถานที่สาธารณะ ภายใต้ชื่อ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ในแต่ละครั้ง “รังสีอำมหิตแห่งความชั่วร้ายต่างๆ จะต้องปรากฎให้เห็นอย่างเด่นชัดอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะการเล่นลูกตุกติกเพื่อโกงการแข่งขันให้สมกับเป็นหัวหน้าฝ่ายอธรรม!”

ไม่เพียงเท่านั้น ในเวลาที่อยู่นอกสังเวียน เพื่อให้ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งฝ่ายอธรรมอย่างเต็มรูปแบบ เธอยังเคยต้อง “ปฏิเสธการขอลายเซ็น” จากบรรดาญาติสนิท หรือแม้กระทั่ง คุณป้าที่เคยใจดีกับเธอในสมัยวัยเยาว์ รวมถึง บรรดาแฟนๆฮาร์ดคอร์ที่ชื่นชอบความดาร์กอีกด้วย นั่นเป็นเพราะเธอไม่ต้องการให้ใครหรือแม้กระทั่งคนที่สนิทชิดเชื้อเชื่อได้ว่า ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ก็สามารถเป็นคนที่มีความปราณีกับใครๆได้!

6. ทำไมใครๆ จึงชิงชัง ดัมพ์ มัตสึโมโตะ :

ด้วยภาพลักษณ์ที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนว่าเป็นฝ่ายอธรรม อีกทั้งการเล่นตุกติกอย่างสม่ำเสมอเวลาลงแข่งขัน โดยเฉพาะการร่วมมือกับกรรมการตัวแสบ “อาเบะ ชิโร่” ได้ช่วยขับภาพลักษณ์ Darkside ให้กับ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ออกมาอย่างเด่นชัด และผลักดันให้ AJW ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม (โดยเฉพาะเมื่อเวลาได้ลงปะทะกับฝ่ายธรรมะที่นำโดยคู่หู Crush Gals) จนอาจเรียกได้ว่า เป็นยุคทองของวงการมวยปล้ำอาชีพหญิงของญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ดี ในด้านหนึ่งแม้จะได้ชื่อว่าเป็นคนมีชื่อเสียง จนกระทั่งสามารถสร้างรายได้ สูงถึงมากกว่าปีละ 60 ล้านเยน (13ล้านบาท) จากค่าตัวและบรรดาผู้สนับสนุนต่างๆ ในปี 1985! ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับรายได้ต่อปีของนักเบสบอลอาชีพชื่อดังในเวลานั้น ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 85 ล้านเยนต่อปี (18ล้านบาท)

แต่ในมุมกลับกัน สิ่งที่ได้รับมาจาก ดัมพ์ มัตสึโมโตะ นอกจากการมีชื่อเสียงหรือเงินทองแล้ว ก็คือการถูกเกลียดชังด้วยเช่นกัน! และจากบรรทัดนี้ไป คือ ผลลัพท์ที่ได้รับจากการเข้าสู่ด้านมืดในนาม ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ซึ่งเจ้าตัวเพิ่งได้ให้สัมภาษณ์ยอมรับกับสื่อญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆนี้

(1.) ไม่สามารถกลับไปบ้านที่ซื้อไว้ให้แม่ตามความฝันได้

ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ยอมรับว่าไม่สามารถกลับไปบ้านที่ซื้อไว้ให้กับแม่ตามความฝันได้ แม้หลังเธอจะรีไทร์จากการเป็น “ราชินีแห่งความชั่วร้าย” แล้วก็ตาม เพราะถ้าหากมีใครรู้ว่าเธอมาที่บ้านหลังดังกล่าว ก็มักจะถูกมือดีลอบปาไข่ใส่อยู่เสมอๆ

(2.) ถูกหัวขโมยบุกอพาร์ตเมนต์ปล้นทรัพย์สิน

หลังจากมีคนล่วงรู้ว่า อพาร์ตเมนต์ดังกล่าวเป็นที่อยู่ของ “จอมวายร้ายแห่งยุค 80” มีหัวขโมยบุกเข้าไปขโมยทรัพย์สิน โดยกวาดซองใส่เงินรางวัล ที่เธอวางเรียงรายไว้บนผนัง ซึ่งมีเงินรวมกันถึง 780,000 เยน (173,169) ไปด้วย

(3.) ไม่สามารถเดินกลับบ้านคนเดียวได้

ทุกครั้งเวลากลับบ้าน ต้นสังกัดของเธอจะให้สองนักมวยปล้ำรุ่นน้อง เดินประกบอยู่เสมอ เพื่อคอยช่วยเหลือเธอหากถูกทำร้าย ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังได้รับคำสั่งอีกด้วยว่า ในกรณีที่ถูกจู่โจมห้ามต่อสู้กลับอย่างเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความนิยมได้

และครั้งหนึ่ง เธอเคยถูกพวกสตอล์กเกอร์สะกดรอยตาม แต่โชคดีที่บอดี้การ์ดสังเกตเห็นและนำตัวไปส่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากแต่ที่น่าตกตะลึงคือ สตอล์กเกอร์ คนดังกล่าวรับสารภาพออกมาน่าตาเฉยว่า “กำลังหาทางปลิดชีพเธอหากมีโอกาส”

(4.) ตกเป็นเป้าหมายของการแสดงความเกลียดชัง :

- ได้รับจดหมายที่มีมีดโกนซ่อนอยู่ภายในซอง ด้วยหวังว่ามันอาจจะทำให้เธอได้รับบาดเจ็บเวลาเปิดจดหมายเกือบทุกวัน ยิ่งไปกว่านั้นภายในยังปรากฏข้อความที่ว่า “จงตายไปซะ” ด้วย

- ได้รับเค้กที่ถูกตกแต่งโดยแมลงสาบจำนวนมาก จนแทบไม่อาจบรรยายความน่าขยะแขยงได้

- ยานพาหนะทุกชนิดตกเป็นเป้าหมายของการถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือ จักรยานยนต์ หากมีใครเห็นว่าเธอเป็นคนขับขี่มา จะต้องตกเป็นเป้าหมายของการขีดข่วน เจาะยางล้อ หรือ แม้กระทั่งขโมยเบาะนั่ง ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพาหนะถูกทำให้เกิดความเสียหาย มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อเธอพยายามเรียกแท็กซี่ ก็ยังถูกปฏิเสธที่จะให้บริการซ้ำเอาเสียอีก

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ “คุณ” คงอยากรู้แล้วใช่ไหมว่า ดัมพ์ มัตสึโมโตะ สามารถผ่านความชิงชังเหล่านี้มาได้อย่างไร คำตอบจากปากของเธอก็คือ

“ครั้งหนึ่งฉันได้ชื่อว่าเป็นคนที่ชาวญี่ปุ่นเกลียดชังมากที่สุด แต่สำหรับฉัน คิดว่ามันถือเป็นรางวัลอันยิ่งใหญ่สำหรับคนที่รับบทบาทชั่วร้าย ใช่ ฉันอาจทำสิ่งที่เลวร้ายเพื่อที่จะถูกเกลียดชัง ด้วยเหตุนี้ฉันจึงไม่รู้สึกอะไรกับการถูกรุมโห่หรือตะโกนขับไล่ต่างๆนานา”

ทั้งนี้ หลังการประกาศรีไทร์ในปี 1988 และใช้ชีวิตเป็น มัตสึโมโตะ คาโอรุ ได้ไม่นาน ในปี 2003 เธอได้หวนคืนสู่วงการนักมวยปล้ำอาชีพอีกครั้ง และจนถึงปัจจุบัน ดัมพ์ มัตสึโมโตะ บนวัย 63 ปี ยังคงพยายามทำงานอย่างหนักเพื่อฟื้นฟูมวยปล้ำอาชีพหญิงของญี่ปุ่นให้กลับคืนสู่จุดสูงสุดให้ได้อีกครั้ง

ส่วนหากใครอยากรู้จัก “ดัมพ์ มัตสึโมโตะ” ให้มากยิ่งขึ้น สามารถติดตามรับชมผ่านซีรีย์ The Queen of Villains ซึ่งสร้างมาจากเรื่องราวของเธอ ที่กำลังสตรีมอยู่บน Netflix ในเวลานี้ได้เลย


You might be intertested in this news.

Mostview

โทโฮคุ ชินคันเซ็น E5 ฮายาบุสะ 60 ตัวจริง จากหนังดัง "Bullet Train Explosion"

จากหนังแอ็คชั่นญี่ปุ่น "Bullet Train Explosion : ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ" เรื่องราวชินคันเซ็น ขบวนฮายาบุสะ 6050B ถูกคนร้ายขู่วางระเบิด ห้ามรถวิ่งต่ำกว่า 100 กม./ชม. กับข้อมูลที่จะพาไปตามรอยเส้นทางรถไฟที่วิ่งเร็วสุดที่ 320 กม./ชม.จากชิน อาโอโมริตรงสู่โตเกียว

แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม

แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม...

เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น

เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น เมื่อสองพี่น้องต่างอุดมการณ์แตกต่างกัน จะขึ้นครองบัลลังก์อาณาจักรศรีสัชนาลัย สุโขทัย ...

ไฟฟ้าดับยุโรปคลี่คลาย สเปนกู้คืนได้ 50% โปรตุเกสไม่พบการโจมตีทางไซเบอร์

สเปน กู้คืนไฟฟ้ากลับเข้าระบบแล้ว 50% หลังไฟฟ้าดับวงกว้างกว่า 10 ชั่วโมง ด้านโปรตุเกสเจอรับผลกระทบไม่ต่างกัน จนต้องประชุมฉุกเฉิน 2 ประเทศ เร่งหาสาเหตุ-แก้ปัญหา ขณะที่ ยังไม่พบหลักฐานชี้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค

ไขคดีใหม่ “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ

นาครั้งใหม่ ของภาพยนตร์อะนิเมะสืบสวนสุดเดือด “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ 2” จาก ค่ายยักษ์ใหญ่ บริษัท เดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส) จำกัด

TrustNEws Line