ร.พ.ญี่ปุ่นเจอปัญหาอะไร เมื่อเผชิญนักท่องเที่ยวล้น! (คลิป)
by Trust News, 8 กุมภาพันธ์ 2568
การท่องเที่ยวที่บูมขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2012 ประกอบกับค่าเยนที่อ่อนค่าลงเป็นประวัติการณ์ กลายเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้ชาวต่างชาติ แห่เดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นๆ และมากขึ้นทุกทีๆ
โดยสิ่งนี้ สามารถยืนยันได้จาก รายงานของ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ซึ่งระบุว่า ในปี 2024 ที่ผ่านมา มีจำนวนชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นสูงถึง 36.86 ล้านคน (ในจำนวนนี้เป็นคนไทยถึง 1,148,900 คน)
อย่างไรก็ดี จำนวนชาวต่างชาติจำนวนมหาศาลนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า “นักท่องเที่ยวล้น” หรือ “Overtourism” แล้ว มันยังทำให้เกิดปัญหาอีกเรื่องหนึ่งตามมา นั่นคือ “ปัญหาด้านการให้บริการทางการแพทย์ แก่ผู้ป่วยที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ”
โดยอ้างอิงจากรายงานของแผนกดับเพลิงโตเกียว ระบุในปี 2023 มีการขนย้ายผู้ป่วยที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไปยังโรงพยาบาลต่างๆในกรุงโตเกียว มากถึง 3,283 คน ซึ่งสูงกว่าตัวเลข 2,620 คน ในช่วงปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าการแพร่ระบาดโควิด-19 เสียอีก
แล้วประเด็นนี้ ทำให้เกิดปัญหากับโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นอย่างไร? :
อ้างอิง จากผลสำรวจสถานพยาบาล 5,184 แห่ง หรือคิดเป็น 60% ของจำนวนสถานพยาบาลทั้งหมดในประเทศ ของ กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น ในปี 2023 พบว่าในจำนวนสถานพยาบาล 5,184 แห่งนี้ มีสถานพยาบาลถึง 2,813 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 54% เคยรับผู้ป่วยชาวต่างชาติ (ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่า รับผู้ป่วยชาวต่างชาติ 10คนหรือน้อยกว่านั้น แต่ก็มีโรงพยาบาลบางแห่งที่ให้ข้อมูลว่า เคยรับผู้ป่วยชาวต่างชาติมากกว่า 1,000 คน!)
อย่างไรก็ดี ในจำนวนสถานพยาบาลทั้ง 2,813 แห่งนี้ พบว่ามากถึง 516 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 18.3% เกิดปัญหากรณีการค้างชำระค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยชาวต่างชาติ
และที่น่าตกใจมากไปกว่านั้น คือ มีสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง เคยต้องพบกับกรณีการค้างชำระค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยชาวต่างชาติ สูงสุดถึง 40 เคสต่อเดือน ขณะที่ยอดค้างชำระสูงสุดต่อเคสที่พบ คือ 18.46 ล้านเยน! (4,091,158บาท) ซึ่งสูงกว่าตัวเลขสูงสุดที่เคยสำรวจในปี 2010 ซึ่งอยู่ที่เพียง 5.22 ล้านเยน (1,155,621บาท) เท่านั้น
อีกทั้ง กรณีการค้างชำระค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยชาวต่างชาติที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านเยน (221,622บาท) สูงสุด นั้น ยังมีจำนวนมากถึง 42 เคสด้วย! (สูงกว่าการสำรวจในปี 2010 ซึ่งมีเพียง 12 เคสเท่านั้น)
ค่ารักษาพยาบาลนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ ชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่น แตกต่างกันแค่ไหน? :
สำหรับชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศญี่ปุ่น นานเกิน 3 เดือนขึ้นไป จะต้องเข้าระบบประกันการรักษาพยาบาลจากรัฐ เช่นเดียวกับพลเมืองญี่ปุ่น ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงจะได้สิทธิการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่น นั่นคือ จ่ายค่ารักษาพยาบาลเพียง 10%-30% ส่วนที่เหลือรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบ นั่นคือ..
1. อายุต่ำกว่า70ปี จ่าย 30%
2. อายุ70ปีขึ้นไปและไม่ได้ทำงานจ่าย 20%
3. อายุมากกว่า 75ปีขึ้นไป จ่าย 10%
ด้วยเหตุนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งไม่ได้จ่ายเงิน (เสียภาษี) ให้กับระบบประกันการรักษาพยาบาลจากรัฐเช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่น หรือ ชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศญี่ปุ่น จึงต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในราคาที่สูงกว่า
เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น ถือว่า การรักษานักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นบริการที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบประกันการรักษาพยาบาลจากรัฐ จึงทำให้สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แยกจากระบบประกันการรักษาพยาบาลจากรัฐได้ หลังจากได้อธิบายวิธีการรักษาให้ผู้ป่วยได้รับทราบอย่างชัดเจนและได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยแล้ว
ค่ารักษาพยาบาลนักท่องเที่ยวต่างชาติ แพงกว่าชาวญี่ปุ่นมากแค่ไหน? :
นอกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแบบ 100% แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการทำให้ค่ารักษาพยาบาลสำหรับชาวต่างชาติต้องสูงขึ้น ก็เป็นเพราะโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นต้องลงทุนเพิ่มเติม สำหรับการรับผู้ป่วยชาวต่างชาติด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ เช่น การจัดซื้ออุปกรณ์ , การจ้างล่ามทางการแพทย์ , การติดต่อประสานงานกับบริษัทประกันภัย รวมถึง การบริการช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์ต่างๆ
โดยหากอ้างอิงข้อมูลจาก ผลสำรวจค่ารักษาผู้ป่วยที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ของ กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น ในปี 2023 พบว่า มีค่าเฉลี่ยที่แพงกว่าค่ารักษาพยาบาลชาวญี่ปุ่น ตั้งแต่ 1.3 - 3 เท่า เช่น...
1. โรคปอดบวม (Pneumonia) ค่ารักษาเฉลี่ยสูงกว่าชาวญี่ปุ่น 3.6 เท่า
2. การผ่าตัดกรณีกระดูกหัก ค่ารักษาเฉลี่ยสูงกว่าชาวญี่ปุ่น 3.59 เท่า
3. โรคภูมิแพ้ (Urticaria) ค่ารักษาเฉลี่ยสูงกว่าชาวญี่ปุ่น 1.56 เท่า
4. โรคกล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis) ค่ารักษาเฉลี่ยสูงกว่าชาวญี่ปุ่น 1.31 เท่า
ค่ารักษาพยาบาลนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้เกิดปัญหาอะไร?
สกู๊ปข่าวชิ้นหนึ่งของสำนักข่าวอาซาฮีในปี 2024 ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาล St.Luke’s International ในกรุงโตเกียว ซึ่งต้องรับรักษาผู้ป่วยต่างชาติเฉลี่ยมากกว่า 2,000 คนต่อปี นอกจากต้องพบกับปัญหา “การค้างชำระค่ารักษาพยาบาลมากกว่า 30 เคสต่อปีแล้ว”
ความพยายามในการอธิบายเรื่องค่ารักษาพยาบาล รวมถึงการประสานงานบริษัทประกันต่างๆในต่างประเทศ ยังนำไปสู่ปัญหาต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กรณีคนไข้หลีกเลี่ยงที่จะชำระค่ารักษา , หรือ บริษัทประกันพยายามต่อรองเพื่อให้จ่ายเงินให้น้อยที่สุด จนทำให้โรงพยาบาลต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากพอสมควรในแต่ละปี อีกทั้งสิ่งที่มักพบอยู่เสมอๆ คือ การเจรจาเพื่อให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูงนี้ มักนำไปสู่การทะเลาะวิวาท หรือ มีปากเสียงตามมา ไม่เว้นแต่ละวัน!
ทำอย่างไรถ้าเกิดไม่สบาย หรือ เกิดอุบัติเหตุกระทันหัน ระหว่างท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น :
อ้างอิงข้อมูลจาก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า...
1. ติดต่อแผนกต้อนรับ หรือแผนกบริการของโรงแรม
เพื่ออธิบายอาการป่วย และให้ช่วยแนะนำหน่วยงานทางการแพทย์
2. ติดต่อจุดแนะนำการท่องเที่ยว(Tourist Information) หรือสถานีตำรวจ (Koban)
เพื่อช่วยให้คำแนะนำหน่วยงานทางการแพทย์ที่อยู่ใกล้เคียง
3. ติดต่อประกันการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ
กรณีที่คุณทำประกันการเดินทางไว้ สามารถโทรติดต่อไปยังบริษัทเพื่อให้เจ้าหน้าที่แนะนำโรงพยาบาลให้
4. ติดต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการข้อมูลและความช่วยเหลือในการท่องเที่ยว (Japan visitor hotline)
ในกรณีหากเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 050-3816-2787 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี และภาษาญี่ปุ่นรองรับตลอด 24 ชั่วโมง 365 วัน ให้ช่วยแนะนำหน่วยงานทางการแพทย์
สำหรับกรณีเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน สามารถโทรเรียกรถพยาบาลเบอร์119 หรือ ยื่นข้อความด้านล่างนี้เพื่อให้คนญี่ปุ่นช่วยเรียกรถพยาบาลให้
救急車を呼んでください
(คิวคิวฉะ โอะ ยนเดะ คุดะไซ)
กรุณาเรียกรถพยาบาล
ไปเที่ยวญี่ปุ่นวันไหนในปี 2025 จึงจะไม่ตรงกับวันหยุดของชาวญี่ปุ่น ซึ่งสถานราชการปิดและคราคร่ำไปด้วยผู้คน :
11 กุมภาพันธ์ : วันสถาปนาประเทศ
23 กุมภาพันธ์ : วันคล้ายวันพระราชสมภพจักรพรรดิญี่ปุ่น
20 หรือ 21 มีนาคม : วันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ
29 เมษายน : วันโชวะ
3 พฤษภาคม : วันรัฐธรรมนูญ
4 พฤษภาคม : วันพฤกษชาติ
5 พฤษภาคม : วันเด็กแห่งชาติ
วันจันทร์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม : วันแห่งทะเล
วันจันทร์ที่ 3 ของเดือนกันยายน : วันคารวะผู้สูงอายุ
22 หรือ 23 กันยายน : วันเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง
วันจันทร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม : วันสุขภาพและกีฬา
3 พฤศจิกายน : วันวัฒนธรรมแห่งชาติ
23 พฤศจิกายน : วันขอบคุณผู้ใช้แรงงาน
อ้างอิงข้อมูลจาก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ จากบทความอันแสนยาวยืด “คุณ” มีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง?

You might be intertested in this news.
Mostview
โทโฮคุ ชินคันเซ็น E5 ฮายาบุสะ 60 ตัวจริง จากหนังดัง "Bullet Train Explosion"
จากหนังแอ็คชั่นญี่ปุ่น "Bullet Train Explosion : ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ" เรื่องราวชินคันเซ็น ขบวนฮายาบุสะ 6050B ถูกคนร้ายขู่วางระเบิด ห้ามรถวิ่งต่ำกว่า 100 กม./ชม. กับข้อมูลที่จะพาไปตามรอยเส้นทางรถไฟที่วิ่งเร็วสุดที่ 320 กม./ชม.จากชิน อาโอโมริตรงสู่โตเกียว
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม...
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น เมื่อสองพี่น้องต่างอุดมการณ์แตกต่างกัน จะขึ้นครองบัลลังก์อาณาจักรศรีสัชนาลัย สุโขทัย ...
ไฟฟ้าดับยุโรปคลี่คลาย สเปนกู้คืนได้ 50% โปรตุเกสไม่พบการโจมตีทางไซเบอร์
สเปน กู้คืนไฟฟ้ากลับเข้าระบบแล้ว 50% หลังไฟฟ้าดับวงกว้างกว่า 10 ชั่วโมง ด้านโปรตุเกสเจอรับผลกระทบไม่ต่างกัน จนต้องประชุมฉุกเฉิน 2 ประเทศ เร่งหาสาเหตุ-แก้ปัญหา ขณะที่ ยังไม่พบหลักฐานชี้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค
ไขคดีใหม่ “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ
นาครั้งใหม่ ของภาพยนตร์อะนิเมะสืบสวนสุดเดือด “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ 2” จาก ค่ายยักษ์ใหญ่ บริษัท เดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส) จำกัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
