What If? รัสเซียVSนาโต จำลอง3ฉากทัศน์การเผชิญหน้า
by Trust News, 6 มีนาคม 2568
What If? รัสเซียVSนาโต จำลอง3ฉากทัศน์การเผชิญหน้า
การช่วงชิงอำนาจระหว่างชาติตะวันตกและรัสเซีย ที่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จากท่าทีของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ที่แลดูราวกับจะมุ่งหน้าไปสู่การทำตามนโยบายหาเสียงที่ว่า American First แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ “แยแส” เหล่าพันธมิตรชาติยุโรปตะวันตกนั้น ใน 2 ตอนที่แล้ว “เรา” ได้พูดถึงบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับแรงปราถนาของสหรัฐฯ ที่มีต่อ RareEarth ในยูเครน
รวมถึงประเด็นที่ว่า “หากเหล่าชาติพันธมิตรยุโรป” ถูกสหรัฐอเมริกาหันหลังให้ ในการต่อต้านการแผ่อิทธิพลของรัสเซีย สิ่งที่พวกเขาต้องเร่งทำเพื่อหาทาง “ปกป้องตนเอง” จากเงื้อมมือ “เคลมลิน” ควรทำอย่างไร? กันไปแล้ว…
อ่านเพิ่มเติม :
ตอนที่ 1 : RareEarthบำเหน็จสงคราม สำคัญต่อสหรัฐฯแค่ไหน?
ตอนที่ 2 : ยุโรปจะรับมือรัสเซียอย่างไร ในวันที่สหรัฐฯหันหลังให้
สำหรับในตอนที่ 3 นี้ “เรา เลยอยากหยิบบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์สุดขั้วที่ว่า “หากรัสเซียต้องเผชิญหน้ากับฝ่าย NATO” ขึ้นมาจริงๆ อะไรคือเหตุแห่งปัจจัย ที่จะนำไปสู่การใช้ปฏิบัติการทางการทหารของพญาหมีขาว ต่อ เหล่าพันธมิตรยุโรปได้บ้าง
รวมถึงจุดไหนคือจุดที่เป็นอันตรายต่อภัยคุกคามจากเคลมลิน…โดยอ้างอิงจากบทวิเคราะห์ของ “แอตแลนติกเคาน์ซิล” เมื่อช่วงปลายปี 2024 ที่ผ่านมา ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า...
1. รัสเซียไม่ได้พ่ายแพ้ หรือ ล้มเหลวในเชิงยุทธศาสตร์ต่อยูเครน และสามารถฟื้นฟูการสูญเสียอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากในสงคราม ผ่านการระดมทรัพยากรเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับของกองทัพได้
2. ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย กับ จีน เกาหลีเหนือ และ อิหร่าน ยังเป็นไปด้วยความราบรื่นและลึกซึ้งต่อไป
3. กระบวนการและขั้นตอนการยกระดับเพื่อต่อต้านรัสเซียของพันธมิตรตะวันตกยังคงดำเนินต่อไป
4. รัสเซียและพันธมิตร ยังคงมีการระดมทรัพยากรด้านกลาโหมอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียว พันธมิตรตะวันตกและสหรัฐฯ

1. ทัศนคติของ NATO ที่มีต่อรัสเซีย :
กลุ่มนายพลอาวุโสของ NATO หลายคนเชื่อมั่นว่า งบประมาณด้านกลาโหมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของรัสเซีย เพื่อขยายขนาดกองทัพให้ใหญ่โตขึ้น สอดคล้องกับแผนการพิชิตดินแดนในทะเลบอลติก ซึ่งในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียตเดิม มากกว่าสเกลการทำสงครามเพียงเพื่อหวังยึดครองยูเครนแต่เพียงอย่างเดียว
ซึ่งประเด็นนี้ สอดคล้องกับความเชื่อของบรรดาชาติตะวันตกที่ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย มีเป้าหมายสำคัญคือยึดครองดินแดนที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียตเดิมกลับคืนมา เพื่อขยายอิทธิพลของรัสเซียให้มากขึ้น
ในขณะที่ฝ่ายประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แสดงจุดยืนในเรื่องนี้อย่างชัดเจนมาแล้วหลายต่อหลายครั้งว่า การขยายชาติสมาชิก NATO มายังประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะในกรณียูเครนที่มีดินแดนติดกับรัสเซีย นั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และยังถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของเคลมลินด้วย

2. What if …… รัสเซีย VS NATO?
ฉากทัศน์ที่ 1 : สงครามบอลติก
ฉากทัศน์นี้ เชื่อว่ารัสเซียจะเริ่มต้นปฏิบัติการโจมตีเพื่อเข้ายึดครอง “จุดยุทธศาสตร์สำคัญ” ที่มีชื่อว่า "Suwalki" ซึ่งเป็นพื้นที่ยาว 100 กิโลเมตร ระหว่างโปแลนด์และลิทัวเนีย ให้ได้เป็นลำดับแรก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการถ่ายโอนกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปให้กับพันธมิตรชาติบอลติก เพื่อแยกรัฐบอลติกออกจากพันธมิตร NATO
โดยสงครามจะเริ่มต้นจากการโจมตีทางไซเบอร์และขีปนาวุธครั้งใหญ่ ต่อศูนย์บัญชาการหลักต่างๆของ NATO เพื่อทำลายการติดต่อสื่อสาร , โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ต่างๆ
ก่อนจะเปิดฉากการสู้รบทางทะเล เพื่อเข้ายึดครองเกาะบอร์นโฮล์ม (Bornholm) และ เกาะก็อตลันด์ (Gotland) ซึ่งเป็นดินแดนของเดนมาร์กและสวีเดน ก่อนจะวางกำลังทางเรือเพื่อขัดขวางการเสริมกำลังของ NATO เพื่อเป้าหมายสำคัญในการบุกภาคพื้นดินในลำดับถัดไป
นอกจากนี้ รัสเซียยังอาจเข้ายึดครองภูมิประเทศที่สำคัญๆ ใน อาร์กติก เพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของ NATO ตามแนวทะเลเหนือด้วย
สำหรับปฏิบัติการดังกล่าวนี้ มีการประเมินเบื้องต้นด้วยว่า มีความเป็นไปได้สูงที่รัสเซีย อาจนำเทคโนโลยีทางการทหารขั้นสูง เช่น รถถังและยานเกราะไร้คนขับ รวมถึงโดรนทางการทหารมาใช้ในปฏิบัติการนี้ด้วย เนื่องจากในสงครามยูเครนนั้น กองทัพรัสเซียมีการทดลองนำเทคโนโลยีที่ว่านี้มาใช้อย่างกว้างขวาง
เป้าหมายรัสเซีย :
สำหรับฉากทัศน์แรก บทวิเคราะห์ชิ้นนี้เชื่อว่า การปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซียดังกล่าว ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเข้าครอบครองดินแดนของชาติสมาชิก NATO แต่จะเป็นไปเพื่อยืนยันอำนาจของรัสเซียเหนือรัฐอดีตสหภาพโซเวียตเดิมเป็นสำคัญ และจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ...
ข้อที่ 1. รัสเซียเกิดติดหล่มสงครามหรือมีทีท่าว่าอาจจะพ่ายแพ้ในสงครามยูเครน
ข้อที่ 2. สหรัฐฯและยุโรปสนับสนุนพันธกรณีด้านกลาโหมกับพันธมิตรในบอลติกจนถึงขั้นที่ทำให้ฝ่ายรัสเซียไม่อาจยอมรับได้

ฉากทัศน์ที่ 2 : มอลโดวาเป้าหมายถัดจากยูเครน
บทวิเคราะห์นี้ชี้ว่า รัฐบาลมอลโดวา ถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่รัสเซียต้องการโค่นล้ม เนื่องจากถูกมองว่าฝักใฝ่กับฝ่ายตะวันตกมากเกินไป จากความพยายามขอเข้าเป็นสมาชิกอียูและ NATO และปัจจุบันแม้จะยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกนาโตอย่างเป็นทางการ แต่ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด
ประกอบกับการที่ ประเทศมอลโดวา มีพรมแดนติดกับยูเครน และสาธารณรัฐทรานส์นีสเตรีย ซึ่งปัจจุบันประกาศแยกตัวจากมอลโดวาและอยู่ภายใต้การอารักขาของกองกำลังทหารรัสเซีย 1,500 นาย ด้วยเหตุนี้ เคลมลินจึงมีนิยามต่อ “มอลโดวา” เช่นเดียวกับ “ยูเครน” นั่นคือ “ต้องไม่กลายเป็นรัฐที่เป็นศัตรูต่อรัสเซีย”
เป้าหมายรัสเซีย :
เป้าหมายของรัสเซียในฉากทัศน์นี้ คือ การรุกคืบในทางปฏิบัติการใต้ดินอย่างช้าๆ ผ่าน ยูเครนและมอลโดวา ไปสู่การครอบครองหรือแทรกแซงเหล่าประเทศอดีตสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอเดิม ที่ปัจจุบันไม่กลายเป็นสมาชิกก็ฝักใฝ่ใกล้ชิดกับ NATO ไปแล้ว เช่น โปแลนด์ , สโลวาเกีย , ฮังการี , โรมาเนีย , บัลแกเรีย
โดยหากขบวนการใต้ดินเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นให้หันกลับมาเป็นพันธมิตรกับรัสเซียได้สำเร็จ จนกระทั่งทำให้ฝ่ายตะวันตกเกิดความไม่พอใจและพยายามเข้าแทรกแซง รัสเซียก็จะมีข้ออ้างต่อชาวโลกได้ทันทีว่า “ฝ่ายตะวันตกเป็นฝ่ายที่รุกรานก่อน”
สำหรับฉากทัศน์นี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ... ฝ่ายกองทัพยูเครนพ่ายแพ้ต่อกองทัพรัสเซียอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจรวมไปถึงการสูญเสียดินแดนเพิ่มเติมนับตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป จนกระทั่งฝ่ายรัสเซียสามารถขยายการยึดครองยูเครนลงไปจนถึงทางตอนใต้ของประเทศ เพื่อเข้าสู่ประเทศมอลโดวาได้สำเร็จ
และเมื่อสถานการณ์ดำเนินไปถึงจุดนั้น โดยที่ฝ่ายตะวันตกเกิดความแตกแยกกันเอง ในเรื่องการสนับสนุนยูเครนซ้ำเติมเข้าไปอีก อิทธิพลของเคลมลินก็จะแผ่กระจายจนสร้างความปั่นป่วนให้กับเสถียรภาพบนคาบสมุทรบอลข่านตะวันตกได้อย่างแน่นอน

ฉากทัศน์ที่ 3 : ปฏิบัติการฝูงโดรนในทะเลดำ
แรงกระตุ้นจากความสูญเสียของกองทัพเรือรัสเซีย จากการถูกโจมตีด้วยโดรนของฝ่ายยูเครนในสงคราม ทั้งๆที่ฝ่ายเคียฟไม่สามารถเทียบกำลังทางเรือกับฝ่ายรัสเซียได้เลยแม้แต่น้อย
ทำให้รัสเซียเริ่มเข้าใจถึงความเปราะบางของกองทัพเรือตนเอง และเริ่มหันไปปรับยุทธศาสตร์กองเรือรบให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อดำรงขีดความสามารถในการต่อต้านกองเรือของฝ่ายตะวันตก เพราะรัสเซีย เคยระบุอย่างชัดเจนแล้วว่า กองเรือของ NATO ที่ลอยลำอยู่ในทะเลดำ ถือเป็น “ภัยคุกคามทางการทหาร” และจะต้องมีพัฒนาแผนยุทธศาสตร์สำหรับการรับมือ
และสิ่งที่รัสเซียดูเหมือนจะหันไปโฟกัสมากเป็นพิเศษ คือ เทคโนโลยีโดรนสงครามที่ได้รับการถ่ายทอดจากอิหร่าน ที่นอกจากจะใช้ต้นทุนต่ำแล้ว ยังมีประสิทธิภาพในการโจมตีสูงด้วย
ซึ่งหากในอนาคตอันใกล้นี้ รัสเซียสามารถผลิตโดรนสงครามได้ในปริมาณที่มากพอ อาจทำให้เคลมลิน สามารถสร้างภัยคุกคามใหักับทั้งกองเรือหรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บริเวณชายฝั่งของ NATO ได้ และประเด็นนี้อาจถึงขั้น “ลบล้าง” ความได้เปรียบที่ชัดเจนของ กองเรือ NATO ที่ลอยลำอยู่ในเขตทะเลดำ , ทะเลบอลติก หรือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต่อกองทัพเรือรัสเซียได้ด้วย
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ จากบทความอันแสนยาวยืด “คุณ” มีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง?

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม :
หยุดทำแบบนี้ได้ไหม? เสียงร้องขอเซเลปเกาหลี
อ่อนแอ ล่าช้า ไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจัยฉุดดีล NISSAN-HONDA ล่ม
เกียรติตำรวจของจีน...หลิวจงอี้มือปราบคอลเซนเตอร์
You might be intertested in this news.
Mostview
โทโฮคุ ชินคันเซ็น E5 ฮายาบุสะ 60 ตัวจริง จากหนังดัง "Bullet Train Explosion"
จากหนังแอ็คชั่นญี่ปุ่น "Bullet Train Explosion : ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ" เรื่องราวชินคันเซ็น ขบวนฮายาบุสะ 6050B ถูกคนร้ายขู่วางระเบิด ห้ามรถวิ่งต่ำกว่า 100 กม./ชม. กับข้อมูลที่จะพาไปตามรอยเส้นทางรถไฟที่วิ่งเร็วสุดที่ 320 กม./ชม.จากชิน อาโอโมริตรงสู่โตเกียว
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม...
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น เมื่อสองพี่น้องต่างอุดมการณ์แตกต่างกัน จะขึ้นครองบัลลังก์อาณาจักรศรีสัชนาลัย สุโขทัย ...
ไฟฟ้าดับยุโรปคลี่คลาย สเปนกู้คืนได้ 50% โปรตุเกสไม่พบการโจมตีทางไซเบอร์
สเปน กู้คืนไฟฟ้ากลับเข้าระบบแล้ว 50% หลังไฟฟ้าดับวงกว้างกว่า 10 ชั่วโมง ด้านโปรตุเกสเจอรับผลกระทบไม่ต่างกัน จนต้องประชุมฉุกเฉิน 2 ประเทศ เร่งหาสาเหตุ-แก้ปัญหา ขณะที่ ยังไม่พบหลักฐานชี้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค
ไขคดีใหม่ “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ
นาครั้งใหม่ ของภาพยนตร์อะนิเมะสืบสวนสุดเดือด “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ 2” จาก ค่ายยักษ์ใหญ่ บริษัท เดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส) จำกัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
