สมการความสัมพันธ์ Apple made in China (ชมคลิป)
by Trust News, 17 เมษายน 2568
สมการความสัมพันธ์ Apple made in China
ท่ามกลางสงครามทางเศรษฐกิจที่ร้อนระอุจากจุดเริ่มต้นที่เรียกว่า "นโยบายภาษีตอบโต้" (Reciprocal tariff) ของ "ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์" ที่มีประเทศจีน จนกระทั่งบรรดานักวิเคราะห์ในสหรัฐหลายต่อหลายคนให้มุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่า อาจส่งผลให้ “เหล่าสินค้าไฮเทคของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ “ไอโฟน” (iPhone) ของบริษัท APPLE ที่ผลิตในจีน อาจมีราคาสูงขึ้นตั้งแต่ 35-67% จากราคาขาย ณ ปัจจุบัน
วันนี้ “เรา” จึงอยากลองไปสำรวจข้อมูลต่างๆ ที่เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ภายใต้แคปชั่นที่ติดตรึงแน่นอยู่บนกล่องผลิตภัณฑ์เกือบทุกชิ้นของ APPLE ที่ว่า “Designed by Apple in California made in china” ดูสักนิดว่า มันจะถูกทำลายลงโดย “ภาษีทรัมป์” หรือ “มีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ได้มากน้อยเพียงใด?”
ทัศนของผู้บริหาร APPLE ที่มีต่อประเทศจีน :
อ้างอิงจากหนังหนังสือ Tim Cook : The Genius Who Took Apple to the Next Level ระบุถึงเหตุผลหลักที่ “สตีฟ จ๊อบส์” (Steve Jobs) มหาบุรุษผู้ก่อตั้ง APPLE ตัดสินใจเลือก “ทิม คุก” (Tim Cook) มาร่วมงาน รวมถึงสนับสนุนให้เป็นผู้สืบทอด ก็เป็นเพราะว่า “ผู้สร้างไอโฟน” ต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างโรงงานและบริหารซัพพลายเชนแบบ Just-in-time หรือ การสั่งซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้าแล้วขายได้หมด หรือ มีสินค้าคงเหลือให้น้อยที่สุดเพื่อประหยัดต้นทุน ซึ่งถือเป็น “จุดอ่อน” ของ “สตีฟ จ๊อบส์” มาโดยตลอด
และจากนั้นเป็นต้นมา “ความสัมพันธ์” ภายใต้ “Designed by Apple in California made in china” ก็ยิ่งสนิทแนบแน่น มากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยดำเนินมาก่อนหน้านั้นอย่างชัดเจน!
นั่นเป็นเพราะจากการวิเคราะห์ของ “ทิม คุก” จุดอ่อนแอสำคัญที่ทำให้ APPLE สร้างผลกำไรได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น นั่นก็เพราะ “โรงงานของบริษัทมีต้นทุนสูงมากในการบริหารและกลายเป็นภาระหนี้สินในงบแสดงฐานะการเงิน” ดังนั้น การผลักภาระออกไปให้กับซัพพลายเออร์ให้ได้มากที่สุดจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่จะต้องไม่สูญเสียคุณภาพและผลิตภาพแต่อย่างใด
ซึ่งหนึ่งใน “คำตอบ” ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับ “โจทย์หิน” ที่ว่านี้ก็คือ บริษัทหองไห่พรีซิซั่นอินดัสทรี (Hon Hai Precistion Industry Company Ltd.) หรือ ที่ “เรา” รู้จักในนาม “ฟอกซ์คอนน์” (Foxconn)
แล้วเพราะอะไร Foxconn จึงกลายเป็นทางเลือกที่สำคัญของ ทิม คุก :
สินค้าเกือบทั้งหมดของ APPLE โดยเฉพาะ ไอโฟน ล้วนประกอบด้วยมือและต้องใช้ความปราณีตสูง เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนและมีขนาดที่เล็กมากๆ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้ “แรงงานมนุษย์จำนวนมาก” รวมถึงต้องมี “ขนาดของโรงงานผลิตที่ใหญ่โตมากเพียงพอเพื่อรองรับจำนวนคนเหล่านั้นด้วย”
ดังนั้น “แรงงานราคาย่อมเยา” รวมถึง “สามารถเรียกเพิ่มเติมได้ทันทีทันใด” ในประเทศจีนของ Foxconn จึงกลายเป็น “คำตอบพื้นฐานเบื้องต้น” ให้กับ “ทิม คุก” ในบัดดล
ค่าแรงในสหรัฐและจีน แตกต่างกันมากน้อยเพียงใด :
อ้างอิงจากรายงานของ South China Morning Post ระบุว่า ค่าจ้างที่คนงานจีนของ Foxconn ได้รับในการผลิต iPhone 16 อยู่ที่ 26 หยวน (117บาท) ต่อชั่วโมง พร้อมโบนัสเซ็นสัญญาอีก 7,500 หยวน (33,989บาท)
ในขณะที่ หากอ้างอิงข้อมูลจากเว็ปไซต์ State of California Department of Industrial Relations ระบุว่า “ค่าแรงขั้นต่ำในรัฐแคลิฟอร์เนีย” ฐานบัญชาการของ APPLE ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1ม.ค.2025 ระบุว่า อยู่ที่ 16.50 ดอลลาร์สหรัฐ (550บาท) ต่อชั่วโมง
ค่าแรงที่ต่ำกว่าใช่เหตุผลเดียวของ APPLE สำหรับ ทิม คุก หรือไม่? :
อ้างอิงจากหนังหนังสือ Tim Cook : The Genius Who Took Apple to the Next Level ระบุว่า ไม่เพียงแต่ “ค่าแรงราคาย่อมเยา” อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้ โรงงาน Foxconn ในประเทศจีน สามารถตอบโจทย์ให้กับการผลิตที่สุดคุ้มค่าให้กับ APPLE ได้มากยิ่งกว่า ก็คือ “ความยืดหยุ่น”
ยกตัวอย่างเช่นในปี 2007 เมื่อ “สตีฟ จ๊อบส์” เกิดสังเกตเห็นว่า Prototype iphone รุ่นแรก ที่ใช้จอพลาสติก ซึ่งตัวเขาพกไว้ในประเป๋ากางเกงมาหลายสัปดาห์ถูกกุญแจในกระเป๋าขูดขีดจอจนเละเทะ
ในบัดดล “มนุษย์ผู้พิศมัยความสมบูรณ์แบบ” จึงสั่งเปลี่ยนจอไอโฟนจากจอพลาสติกเป็นจอแก้วในทันที! ทั้งๆที่ มันกำลังอยู่ในไลน์การผลิตเพื่อเตรียมออกวางจำหน่ายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าก็ตาม
แต่เชื่อหรือไม่ว่า เพียงไม่กี่วันต่อมา “จอแก้วจำนวนมาก” ได้ถูกส่งมาที่โรงงาน Foxconn กลางดึก พร้อมกับมีคำสั่งให้พนักงานมากกว่า 8,000 คนถูกปลุกขึ้นมาทำงาน ณ เวลานั้นในทันที และให้ควงกะการทำงานยาวต่อเนื่องถึง 12 ชั่วโมง เพื่อเปลียนจอพลาสติกเป็นจอแก้ว จนกระทั่งสามารถประกอบ iPhone ได้มากถึง 10,000 เครื่องต่อวัน! จนกระทั่งทำให้การการตัดสินใจแทบจะวินาทีสุดท้ายของ “สตีฟ จ๊อบส์” ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
และในปัจจุบัน คุณรู้หรือไม่ว่า? โรงงาน Foxconn ในประเทศจีน 12 แห่ง ถือเป็นกำลังหลักในการผลิต iPhone ให้กับ APPLE ได้มากถึง 200 ล้านเครื่องต่อปีด้วย
ความแตกต่างระหว่างโรงงานในสหรัฐฯ และ จีน :
เจนเฟอร์ ริกอนี อดีตผู้จัดการฝ่ายอุปสงค์อุปทานทั่วโลกของ APPLE ระบุว่า ด้วยเหตุเพราะ แอปเปิ้ลมักเปลี่ยนแปลงดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ในวินาทีสุดท้าย อีกทั้งอุปสงค์ต่อตัวสินค้าก็มักจะเกิดความผันผวนอย่างรุนแรงอยู่เสมอๆ (โดยเฉพาะในยุคคู่หู สตีฟ จ๊อบส์ และ จอนนี่ ไอฟฟ์)
ยกตัวอย่างเช่นกรณี ไอโฟน X ที่ขายดิบขายดีถึง 55 ล้านเครื่องทันทีใน 2-3 เดือนแรก ดังนั้นด้วยสเกลเช่นนี้ APPLE จำเป็นต้องมีโรงงานที่มีกำลังการผลิตรวมกันสูงสุดให้ได้ถึงวันละ 1 ล้านเครื่อง และต้องใช้คนงานอย่างน้อย 750,000 คน
"คำถาม" คือ ในขณะที่ โรงงาน Foxconn ในประเทศจีนสามารถจ้างแรงงานทักษะสูง ได้ถึง 3,000 คน ภายในชั่วข้ามคืน แต่กลับกัน โรงงานในสหรัฐฯ สามารถทำแบบนั้น รวมถึงเกลี้ยกล่อมให้คนเหล่านั้นยอมนอนค้างที่โรงงานเพื่อผลิตไอโฟนได้ไหม?
นอกจากนี้ในปี 2017 “ทิม คุก” เอง ยังเคยพูดถึงความแตกต่างระหว่าง แรงงานในสหรัฐและจีน เอาไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า… “สหรัฐฯมีจำนวนวิศวกรและทักษะที่จำเป็นน้อยเกินไป” โดยเมื่อถูกถามว่า “เพราะอะไรจึงเลือกจีนเป็นแหล่งผลิตสินค้าสำคัญให้กับ APPLE?”
ทิม คุก ตอบกลับไปว่า “เมื่อเรียกประชุมทีมวิศวกรที่จีน พวกเขามารวมตัวกันจนแทบจะเรียกได้ว่าเต็มสนามฟุตบอลได้หลายๆสนาม แต่หากกลับกันที่สหรัฐฯ เป็นเรื่องยากที่จะให้ทีมวิศวกรมารวมตัวกันได้เต็มสนามฟุตบอลเพียงสนามเดียว”
และหากใครยังไม่รู้? “สตีฟ จ๊อบส์” เคยได้รับบทเรียนอันแสนแพง จากการลงทุนด้วยเงินก้อนโตเพื่อสร้างงานโรงงานที่มีระบบควบคุมอัตโนมัติ (เพื่อประหยัดต้นทุน) ที่ เบย์แอเรีย ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อผลิตเครื่องแมคอินทอช จนกระทั่งกลายเป็นข่าวโด่งดังในยุค 80
หากแต่ “ผลลัพท์” ที่ได้กลับมา คือ “ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง” เนื่องจากยอดขายเครื่องแมคอินทอช ไม่เคยสูงพอที่จะครอบคลุมต้นทุนของโรงงาน อีกทั้งการที่โรงงานดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อผลิตคอมพิวเตอร์ได้เพียงแบบเดียวเท่านั้น จึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าประเภทอื่นๆได้ จนกระทั่งทำให้ “โรงงานแห่งอนาคต” ของ “สตีฟ จ๊อบส์” ต้องปิดตัวลงอย่างน่าเศร้าไป ในปี 1992
ฐานการผลิตของ APPLE ในปัจจุบัน :
ปัจจุบัน มีการประเมินเอาไว้ว่า ฐานการผลิตหลักถึง 90% ของ APPLE อยู่ในประเทศจีน ในขณะที่ประเทศที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบนิเวศที่ใกล้เคียงกันกับจีน เช่น อินเดีย และ เวียดนาม กำลังถูกวางตำแหน่งให้เป็น “บ้านหลังใหม่” สำหรับลดการพึ่งพาการผลิตจากประเทศจีน โดยเฉพาะกรณีของ iPhone
ส่วนในประเทศอื่นๆ เช่น ไทย , มาเลเซีย , อินโดนีเซีย , บราซิล ถูกวางตำแหน่งเอาไว้สำหรับการผลิตอุปกรณ์อื่นๆ เช่น เครื่อง MAC , AirPods , Apple Watch และ iPad เป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ทุกประเทศที่ว่าไปนั้น ต่างก็ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจาก “ภาษีทรัมป์” เช่นเดียวกับประเทศจีนทั้งสิ้น
APPLE ย้ายฐานการผลิตจากจีน กลับ สหรัฐฯ :
“แดน ไอฟส์ ” (Dan Ives) นักวิเคราะห์จากบริษัทด้านการบริหารกองทุน Wedbush Securities ประเมินว่า ในกรณีที่ APPLE ต้องการย้ายการผลิตกลับคืนสู่สหรัฐอเมริกา ตามความต้องการของ ท่านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
APPLE จะต้องใช้เงินทุนมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (997,559ล้านบาท) และระยะเวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี สำหรับการโยกย้ายซัพพลายเชน ที่สัดส่วนเพียง 10% เท่านั้น
APPLE มี iPhone สำหรับรอการเจรจาระหว่างสหรัฐฯและจีน ได้นานแค่ไหน? :
จากการประเมินของ International Data Corporation หรือ IDC เชื่อว่า APPLE มีสินค้าคงคลังในสหรัฐฯ ส่วนที่จะไม่ได้รับผลกระทบจาก “ภาษีทรัมป์” เพียงพอสำหรับ 2-3 สัปดาห์ เป็นอย่างน้อย
ส่วน “คานาลิส” (Canalys) บริษัทวิจัยการตลาดชื่อดัง เชื่อว่ามีสินค้าคงคลัง iPhone เพียงพอสำหรับ 2- 3 เดือนในสหรัฐฯ ขณะที่ Counterpoint Research บริษัทที่ตรวจสอบการจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลก ประเมินว่า Apple มีสินค้าคงคลังประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ในสหรัฐฯ
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ จากบทความอันแสนยาวยืด “คุณ” มีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง?

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม :
คัมภีร์เข้าสู่ทำเนียบขาว ฉบับ ปีเตอร์ นาวาร์โร
ผ่ามุมคิดรัฐบาลสิงคโปร์ แม้โดนภาษีทรัมป์แค่10%
What If? รัสเซียVSนาโต จำลอง3ฉากทัศน์การเผชิญหน้า
ยุโรปจะรับมือรัสเซียอย่างไร ในวันที่สหรัฐฯหันหลังให้
You might be intertested in this news.
Mostview
โทโฮคุ ชินคันเซ็น E5 ฮายาบุสะ 60 ตัวจริง จากหนังดัง "Bullet Train Explosion"
จากหนังแอ็คชั่นญี่ปุ่น "Bullet Train Explosion : ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ" เรื่องราวชินคันเซ็น ขบวนฮายาบุสะ 6050B ถูกคนร้ายขู่วางระเบิด ห้ามรถวิ่งต่ำกว่า 100 กม./ชม. กับข้อมูลที่จะพาไปตามรอยเส้นทางรถไฟที่วิ่งเร็วสุดที่ 320 กม./ชม.จากชิน อาโอโมริตรงสู่โตเกียว
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม
แนะนำหนังสือ-อีบุ๊ก นิยายน่าอ่าน ประจำเดือนพฤษภาคม...
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น
เปิดตัว “พระร่วง..มหาศึกสุโขทัย” กับการตีความใหม่ที่เข้มข้น เมื่อสองพี่น้องต่างอุดมการณ์แตกต่างกัน จะขึ้นครองบัลลังก์อาณาจักรศรีสัชนาลัย สุโขทัย ...
ไฟฟ้าดับยุโรปคลี่คลาย สเปนกู้คืนได้ 50% โปรตุเกสไม่พบการโจมตีทางไซเบอร์
สเปน กู้คืนไฟฟ้ากลับเข้าระบบแล้ว 50% หลังไฟฟ้าดับวงกว้างกว่า 10 ชั่วโมง ด้านโปรตุเกสเจอรับผลกระทบไม่ต่างกัน จนต้องประชุมฉุกเฉิน 2 ประเทศ เร่งหาสาเหตุ-แก้ปัญหา ขณะที่ ยังไม่พบหลักฐานชี้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค
ไขคดีใหม่ “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ
นาครั้งใหม่ ของภาพยนตร์อะนิเมะสืบสวนสุดเดือด “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะ มูฟวี่ ภาค 28 : ปริศนาภาพติดตามรณะ 2” จาก ค่ายยักษ์ใหญ่ บริษัท เดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส) จำกัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
